เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นโท วิชาวินัยบัญญัติ ปี 2567
ติวเข้มเตรียมสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นโท วิชาวินัยบัญญัติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ มีทั้งหมด ๓๐ ข้อดังนี้ครับ |
---|
๑. | สิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์เรียกว่าอะไร ? ทรงบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ? |
---|---|
ต/ |
เรียกว่า อภิสมาจาร ฯ ทรงบัญญัติไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของภิกษุและเพื่อความงามของพระศาสนา ฯ |
๒. | ภิกษุผู้ปฏิบัติพระวินัยส่วนอภิสมาจารให้ดีงาม จะต้องปฏิบัติอย่างไร ? |
ต/ | ต้องปฏิบัติโดยสายกลาง คือ ไม่ถือเคร่งครัดอย่างงมงาย จนเป็นเหตุทำตนให้ลำบาก เพราะเหตุธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ อันขัดต่อกาลเทศะ และไม่สะเพร่ามักง่าย ละเลยต่อธรรมเนียมของภิกษุ จนถึงทำตนให้เป็นคนเลวทราม ฯ |
๓. | เปลือยกายอย่างไรต้องอาบัติถุลลัจจัย ? อย่างไรต้องอาบัติทุกกฎ ? |
ต/ |
เปลือยกายเป็นวัตรเอาอย่างเดียรถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯ เปลือยกายทํากิจแก่กัน เช่น ไหว้ รับไหว้ ทําบริกรรม ให้ของ รับของและเปลือยกายในเวลาฉัน ในเวลาดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ |
๔. | ข้อว่า “อย่าพึงนุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์” นั้นมีอธิบายอย่างไร ? |
ต/ | มีอธิบายว่า ห้ามนุ่งห่มเครื่องนุ่งห่มของคฤหัสถ์ เช่น กางเกง เสื้อ ผ้าโพก หมวก ผ้านุ่ง ผ้าห่มสีต่าง ๆ ชนิดต่าง ๆ และห้ามอาการนุ่งห่มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ของภิกษุ ฯ |
๕. | การผัดหน้า ไล้หน้า ทาหน้า ทรงห้ามและทรงอนุญาตไว้ในกรณีใด ? |
ต/ |
การผัดหน้า ไล้หน้า ทาหน้า ทรงห้ามเฉพาะเพื่อทำให้สวย ทรงอนุญาตในกรณีอาพาธ ฯ |
๖. | บาตรที่ทรงอนุญาต มีกี่ชนิด ? อะไรบ้าง ? บาตรสแตนเลสจัดเข้าในชนิดไหน ? |
ต/ |
บาตรที่ทรงอนุญาต มี ๒ ชนิด ฯ คือ ๑. บาตรดินเผา ๒. บาตรเหล็ก ฯ บาตรแสตนเลสจัดเข้าในบาตรเหล็ก ฯ |
๗. | ผ้าสำหรับทำจีวรนุ่งห่มนั้น ทรงอนุญาตไว้กี่ชนิด ? อะไรบ้าง |
ต/ |
ทรงอนุญาตไว้ ๖ ชนิด ฯ คือ ๑) โขมะ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ๒) กัปปาสิกะ ผ้าทำด้วยฝ้าย ๓) โกเสยยะ ผ้าทำด้วยใยไหม ๔) กัมพละ ผ้าทำด้วยขนสัตว์ ยกเว้นผมและขนมนุษย์ ๕) สาณะ ผ้าทำด้วยเปลือกป่าน ๖) ภังคะ ผ้าทำด้วยของ ๕ อย่างนั้น แต่อย่างใดอย่างหนึ่งปนกัน ฯ |
๘. | บริขาร ๘ อย่างไหนจัดเป็นบริขารบริโภค อย่างไหนจัดเป็นบริขารอุปโภค ? |
ต/ |
ไตรจีวร บาตร ประคตเอว รวม ๕ อย่าง จัดเป็นบริขารบริโภค ฯ เข็ม มีดโกน และผ้ากรอกน้ํา จัดเป็นบริขารอุปโภค ฯ |
๙. | คําว่า ถือนิสัย ในพระวินัย หมายความว่าอะไร ? |
ต/ | คำว่า ถือนิสัย หมายความว่า ยอมตนอยู่ในความปกครองของพระเถระผู้มีคุณสมบัติสามารถปกครองตนได้ให้ท่านปกครอง พึ่งพิงพํานักอาศัยท่าน ฯ |
๑๐. | ภิกษุเช่นไรควรได้นิสัยมุตตกะ ? |
ต/ |
ภิกษุผู้ควรได้นิสัยมุตตกะ คือ ๑. เป็นผู้มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ สติ ๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อาจาระ ความเห็นชอบ เคยได้ยินได้ฟังมามาก มีปัญญา ๓. รู้จักอาบัติ มิใช่อาบัติ อาบัติเบา อาบัติหนัก จําพระปาฏิโมกข์ได้แม่นยําทั้งมีพรรษาพ้น ๕ ฯ |
๑๑. | ภิกษุเช่นไร ชื่อว่า นวกะ มัชฌิมะ เถระ ? |
ต/ |
นวกะ คือ ภิกษุมีพรรษาไม่ถึง ๕ มัชฌิมะ คือ ภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ ๕ ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง ๑๐ ต้องประกอบด้วยคุณธรรมตามพระวินัย เถระ คือ ภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป ต้องประกอบ ด้วยคุณธรรมตามพระธรรมวินัย ฯ |
๑๒. | วัตรคืออะไร ? อุปัชฌายวัตรและสัทธิวิหาริกวัตร ใครพึงทำแก่ใคร ? |
ต/ |
วัตร คือ แบบอย่างอันดีงามที่ภิกษุควรประพฤติในกาลนั้นๆ ฯ อุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกพึงทําแก่อุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริกวัตร อุปัชฌาย์พึงทําแก่สัทธิวิหาริก ฯ |
๑๓. | ภิกษุผู้ได้ชื่อว่า วตฺตสมฺปนฺโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร วัตรมีอะไรบ้าง ? |
ต/ |
วัตร มี ๓ ประการ คือ ๑) กิจวัตร ว่าด้วยกิจอันควรทำ ๒) จริยาวัตร ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ ๓) วิธีวัตร ว่าด้วยแบบอย่าง ฯ |
๑๔. | ภิกษุผู้อาพาธควรปฏิบัติตนอย่างไร จึงไม่เป็นภาระแก่ผู้พยาบาล ? |
ต/ | ควรปฏิบัติตนให้เป็นผู้พยาบาลง่าย คือ ทำความสบายให้แก่ตน (ไม่ฉันของแสลง) รู้จักประมาณในการบริโภค ฉันยาง่าย บอกอาการไข้ตามเป็นจริงแก่ผู้พยาบาล เป็นผู้อดทนต่อทุกขเวทนา ฯ |
๑๕. | คารวะ คืออะไร ? การลุกขึ้นยืนรับเป็นกิจที่ผู้น้อยพึงทำแก่ผู้ใหญ่แต่ควรเว้นในเวลาเช่นใดบ้าง ? |
ต/ |
คารวะ คือ กิริยาที่แสดงอาการอ่อนน้อมโดยสมควรแก่ กาล สถานที่ กิจ และบุคคล ฯ ควรเว้นในเวลานั่งอยู่ในสำนักของผู้ใหญ่ ไม่ลุกรับผู้น้อยกว่าท่าน ในเวลานั่ง เข้าแถวในบ้าน ในเวลาเข้าประชุมสงฆ์ในอาราม ฯ |
๑๖. | ภิกษุอยู่ในกุฎิเดียวกันกับภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า ควรปฏิบัติตนอย่างไร จึงชื่อว่าแสดงความเคารพท่านตามพระวินัย ? |
ต/ |
ควรปฏิบัติตนอย่างนี้ คือ จะทําสิ่งใดๆ ควรขออนุญาตท่านก่อน เช่น จะสอนธรรม จะอธิบายความ จะสาธยาย จะแสดงธรรม จะเปิดหรือปิดไฟ จะเปิดหรือปิดหน้าต่าง มิให้ทําตามอําเภอใจ ฯ |
๑๗. | สัตตาหกรณียะคืออะไร ? มีวิธีปฏิบัติอย่างไร ? |
ต/ |
สัตตาหกรณียะ คือการหลีกไปในระหว่างอยู่จําพรรษาด้วยกิจธุระอันสมควรและกลับมาภายใน ๗ วัน ฯ มีวิธีปฏิบัติ คือ ให้ผูกใจว่าจะกลับมาภายใน ๗ วัน ฯ |
๑๘. | ธุระเป็นเหตุไปด้วยสัตตาหกรณียะที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
มี ๔ อย่าง ฯ คือ ๑. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้ รู้เข้าแล้วไปเพื่อพยาบาล ๒. สหธรรมิกกระสันจะสึก รู้เข้าแล้วไปเพื่อระงับ ๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุด ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาระมาซ่อมแซม ๔. ทายกต้องการจะทำบุญ ส่งคนมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธา แม้กิจอื่นที่อนุโลมตามนี้ ท่านก็อนุญาต ฯ |
๑๙. | ดิถีที่กำหนดให้เข้าจำพรรษาในบาลีกล่าวไว้เท่าไร ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
กล่าวไว้ ๒ ฯ คือ ๑. ปุริมิกาวัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาต้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ๒. ปัจฉิมิกาวัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาหลัง คือ วันแรม ๑ ค่ํา เดือน ๙ ฯ |
๒๐. | กําลังสวดพระปาฏิโมกข์อยู่ หากมีภิกษุอื่นเข้ามา จะปฏิบัติอย่างไร ? |
ต/ |
ปฏิบัติอย่างนี้ คือ ถ้าภิกษุผู้เข้ามาใหม่มากกว่าภิกษุผู้ชุมนุมต้องสวดตั้งต้นใหม่ ถ้าเท่ากันหรือน้อยกว่า ส่วนที่สวดไปแล้วก็ให้เป็นอันสวดแล้ว ให้เธอผู้มาใหม่ฟังส่วนที่ยังเหลือต่อไป ฯ |
๒๑. | อุปปถกิริยา คืออะไร ? มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง |
ต/ |
อุปปถกิริยา คือ การทำนอกรีตนอกรอยของสมณะ ฯ มี ๓ อย่าง ฯ ได้แก่ ๑) อนาจาร ได้แก่ ความประพฤติไม่ดีไม่งาม ๒) ปาปสมาจาร ได้แก่ ความประพฤติเลวทราม ๓) อเนสนา ได้แก่ ความหาเลี้ยงชีพไม่สมควร ฯ |
๒๒. | ภิกษุได้ชื่อว่า “กุลปสาทโก ผู้ยังตระกูลให้เลื่อมใส” เพราะมีปฏิปทาอย่างไร ? |
ต/ | เพราะมีปฏิปทาอย่างนี้ คือ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระ ไม่ทอดตนเป็นคนสนิทของสกุลโดยฐานเป็นคนเลว และอีกอย่างหนึ่ง ไม่รุกรานตัดรอนเขา แสดงเมตตาจิตต่อเขา ประพฤติพอดีพองาม ยังความเลื่อมใสนับถือของเขาให้เกิดในตน ฯ |
๒๓. | ภิกษุได้ชื่อว่า “กุลทูสโก ผู้ประทุษร้ายสกุล” เพราะประพฤติอย่างไร ? |
ต/ | เพราะประพฤติให้เขาเสียศรัทธาเลื่อมใส คือ เป็นผู้ประจบเขาด้วยกิริยาทำตนอย่างคฤหัสถ์ ยอมตนให้เขาใช้สอย หรือด้วยอาการเอาเปรียบโดยเชิงให้สิ่งของเล็กน้อย ด้วยหวังได้มาก ฯ |
๒๔. | ภิกษุฉันเนื้องู เนื้อมนุษย์ ต้องอาบัติอะไร ? |
ต/ |
ฉันเนื้องู ต้องอาบัติทุกกฎ ฯ ฉันเนื้อมนุษย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯ |
๒๕. | สภาคาบัติ คืออาบัติเช่นไร จงอธิบาย ? |
ต/ | สภาคาบัติ คือ อาบัติที่ภิกษุต้องเหมือนกันเพราะล่วงละเมิดสิกขาบทเดียวกัน ห้ามไม่ให้แสดง ห้ามไม่ให้รับ ให้แสดงในสำนักของภิกษุอื่น ฯ |
๒๖. | จีวรที่วิกัปไว้ เมื่อจะนำมาใช้ต้องทำอย่างไร ? ถ้าไม่ทำเช่นนั้นต้องอาบัติอะไร ? |
ต/ |
จีวรที่วิกัปไว้ เมื่อจะนำมาใช้ต้องขอให้ผู้รับถอนก่อน ฯ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นต้อง อาบัติปาจิตตีย์ ฯ |
๒๗. | สมบัติของภิกษุในทางพระวินัยมีเท่าไร ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
สมบัติของภิกษุในทางพระวินัยมี ๔ ฯ คือ ๑. สีลสมบัติ ๒. อาจารสมบัติ ๓. ทิฏฐิสมบัติ ๔. อาชีวสมบัติ ฯ |
๒๘. | มหาปเทสแปลว่าอะไร ? ทรงประทานไว้เพื่อประโยชน์อะไร ? |
ต/ |
มหาปเทส แปลว่า ข้อสําหรับอ้างใหญ่ ฯ เพื่อเป็นหลักแห่งการวินิจฉัยทั้งในทางธรรมทั้งในทางวินัย ฯ |
๒๙. | อนาจารหมายถึงอะไร ? เล่นอย่างไรบ้าง จัดเป็นอนาจาร ? |
ต/ |
อนาจาร หมายถึง ความประพฤติไม่ดีงาม และการเล่นมีประการต่างๆ ฯ เล่นอย่างเด็ก เล่นคะนอง เล่นพนัน เล่นปู้ยี่ปู้ยํา เล่นอึงคะนึง จัดเป็นอนาจาร ฯ |
๓๐. | ภิกษุผู้ได้ชื่อว่า ประดับพระศาสนาให้รุ่งเรือง เพราะประพฤติปฏิบัติเช่นไร ? จงชี้แจง |
ต/ | เพราะมีความประพฤติปฏิบัติ สุภาพเรียบร้อย สมบูรณ์ด้วยอภิสมาจาริกวัตร เว้นจากบุคคล และสถานที่ไม่ควรไป คือ อโคจร เป็นผู้ได้ชื่อว่า อาจารโคจรสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร อันเป็นคู่กับคุณบทว่า สีลสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ฯ |