เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก วิชาธรรมวิภาค ปี 2567
ติวเข้มเตรียมสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นเอก วิชาธรรมวิภาค ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ มีทั้งหมด ๓๐ ข้อ ดังนี้ครับ |
---|
๑. | พระบรมศาสดาทรงชักชวนให้มาดูโลกนี้โดยมีพระประสงค์อย่างไร ? |
---|---|
ต/ | มีพระประสงค์เพื่อให้รู้จักสิ่งที่เป็นจริงอันมีอยู่ในโลก จักได้ละสิ่งที่เป็นโทษ และ ไม่ข้องติดอยู่ในสิ่งที่เป็นคุณ ฯ |
๒. | นิพพิทาคืออะไร ? ปฏิปทาเครื่องดําเนินให้ถึงนิพพิทานั้นอย่างไร ? |
ต/ |
นิพพิทา คือ ความหน่ายในทุกข์ ฯ อย่างนี้ คือ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ย่อมเกิดนิพพิทา ความหน่ายในทุกขขันธ์ ไม่เพลิดเพลินยึดมั่นหมกมุ่นอยู่ในสังขารอันยั่วยวนเสน่หา ฯ |
๓. | อนิจจตา ความไม่เที่ยงแห่งสังขาร กําหนดรู้ในทางง่ายได้ด้วยอาการอย่างไร ? |
ต/ | ด้วยความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และความสิ้นไปในเบื้องปลาย ฯ |
๔. | ทุกข์ และทุกขลักษณะ เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน ? จงอธิบาย |
ต/ |
ต่างกัน คือ
ทุกข์ ได้แก่ ปัญจขันธ์ ทุกขลักษณะ ได้แก่ ปัญจขันธ์ที่ถูกเบียดเบียนถูกบีบคั้นจากเหตุปัจจัยอันเป็นข้าศึก เช่น ความเย็น ความร้อน เป็นต้น ฯ |
๕. | ทุกข์ประจำสังขารกับทุกข์จร ต่างกันอย่างไร ? |
ต/ |
ทุกข์ประจําสังขาร เป็นทุกข์ที่ต้องมีแก่คนทุกคน ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงพ้น ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ส่วนทุกข์จร เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ได้แก่ โสกะ ปริเทวะทุกขะ โทมนัส อุปายาส ประจวบด้วยคนหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากคนหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมหวัง ฯ |
๖. | ความเป็นอนัตตาแห่งสังขาร พึงกำหนดรู้ด้วยอาการอย่างไรบ้าง |
ต/ |
ด้วยอาการอย่างนี้ คือ ๑. ด้วยไม่อยู่ในอำนาจ หรือฝืนความปรารถนา ๒. ด้วยแย้งต่ออัตตา ๓. ด้วยความเป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ๔. ด้วยความเป็นสภาพสูญ คือว่าง หรือหายไป ๕. ด้วยความเป็นสภาวธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ฯ |
๗. | ตัณหา เมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดที่ไหน และเมื่อดับย่อมดับที่ไหน ? ตัณหานั้นย่อมสิ้นไปเพราะธรรมอะไร ? |
ต/ |
ตัณหา เมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดในสิ่งเป็นที่รักที่ยินดีในโลก เมื่อดับย่อมดับในสิ่งเป็นที่รักที่ยินดีในโลกนั่นเอง ฯ ตัณหานั้นย่อมสิ้นไปเพราะวิราคะ คือ พระนิพพาน ฯ |
๘. | ไวพจน์แห่งวิราคะ ได้แก่อะไรบ้าง ? |
ต/ |
๑. มทนิมฺมทโน แปลว่า ธรรมยังความเมาให้สร่าง ๒. ปิปาสวินโย แปลว่า ความนําเสียซึ่งความกระหาย ๓. อาลยสมุคฺฆาโต แปลว่า ความถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย ๔. วฏฺฏูปจฺเฉโท แปลว่า ความเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ ๕. ตณฺหกฺขโย แปลว่า ความสิ้นแห่งตัณหา ๖. วิราโค แปลว่า ความสิ้นกําหนัด ๗. นิโรโธ แปลว่า ความดับ ๘. นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมชาติหาเครื่องเสียบแทงมิได้ ฯ |
๙. | ความหลุดพ้นอย่างไรเป็นสมุจเฉทวิมุตติ ? จัดเป็นโลกิยะหรือโลกุตตระ ? |
ต/ |
ความหลุดพ้นด้วยการตัดกิเลสได้เด็ดขาด ได้แก่ อริยมรรค ฯ จัดเป็นโลกุตตระ ฯ |
๑๐. | บทว่า “เมื่อหลุดพ้นแล้ว ญาณว่าหลุดพ้นแล้ว ย่อมมี” ใครเป็นผู้หลุดพ้น ? และหลุดพ้นจากอะไร ? |
ต/ |
จิตเป็นผู้หลุดพ้น ฯ หลุดพ้นจากอาสวะ ๓ ฯ |
๑๑. | ในวิมุตติ ๕ วิมุตติใดจัดเป็น อริยมรรค อริยผล นิพพาน ? |
ต/ |
สมุจเฉทวิมุตติ จัดเป็น อริยมรรค ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ จัดเป็น อริยผล นิสสรณวิมุตติ จัดเป็น นิพพาน ฯ |
๑๒. | วิมุตติ ๕ อย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหนเป็นโลกุตตระ ? |
ต/ |
ตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ เป็นโลกิยะ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ นิสสรณวิมุตติ เป็นโลกุตตระ ฯ |
๑๓. | พระบาลีว่า “ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ บุคคลย่อมหมดจดด้วยปัญญา” มีอธิบายอย่างไร ? |
ต/ | มีอธิบายว่า ผู้พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความเบื่อหน่ายแล้ววางเฉยในสังขารนั้น ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล ความหมดจดย่อมเกิดด้วยปัญญาอย่างนี้ ฯ |
๑๔. | พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมอะไรเป็นยอดแห่งสังขตธรรม ? เพราะเหตุไร ? |
ต/ |
อัฏฐังคิกมรรคเป็นยอดแห่งสังขตธรรม ฯ เพราะองค์ ๘ แต่ละองค์ ๆ ของอัฏฐังคิกมรรค ล้วนแต่เป็นธรรมที่ดี ยิ่งรวมกันเข้าทั้ง ๘ องค์ ย่อมเป็นธรรมดียิ่งนัก และ เป็นทางเดียวนําไปถึงความดับทุกข์ หรือถึงความ หมดจดแห่งทัสสนะ ฯ |
๑๕. | จงจัดมรรค ๘ เข้าในวิสุทธิ ๗ มาดู |
ต/ |
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเข้าในสีลวิสุทธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเข้าในจิตตวิสุทธิ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเข้าในทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิ ฯ |
๑๖. | สันติ ความสงบ หมายถึง สงบอะไร ? ผู้มุ่งสันติสุขอย่างแท้จริง ท่านสอนให้ละอะไร ? |
ต/ |
สันติ หมายถึง สงบกาย วาจา ใจ ฯ ผู้มุ่งสันติสุขอย่างแท้จริง ท่านสอนให้ละโลกามิส คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบ ใจ ฯ |
๑๗. | สันติ ความสงบ เกิดขึ้นที่ใด ? มีปฏิปทาที่จะดำเนินอย่างไร ? |
ต/ |
สันติเกิดขึ้นที่กาย วาจา ใจ ฯ มีปฏิปทาที่จะดำเนิน คือ ปฏิบัติกาย วาจา ใจ ให้สงบจากโทษเวรภัย ด้วยการละโลกามิส คือ กามคุณ ๕ ฯ |
๑๘. | สอุปาทิเสสนิพพาน กับ อนุปาทิเสสนิพพาน ต่างกันอย่างไร ? |
ต/ |
ต่างกัน คือ สอุปาทิเสสนิพพาน เป็นความดับกิเลสที่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นความดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ฯ |
๑๙. | ข้อว่า ปลงภาระอันหนักเสียแล้ว ไม่ถือเอาภาระอันอื่น ดังนี้ มีอธิบายอย่างไร ? |
ต/ |
มีอธิบายว่า ภาระ หมายถึง เบญจขันธ์ การปลงภาระ หมายถึง การถอนอุปาทาน การไม่ถือเอาภาระอื่น หมายถึง การไม่ถือเบญจขันธ์อื่นด้วยอุปาทาน ฯ |
๒๐. | อบาย คืออะไร ? ในอรรถกถาแจกไว้เป็น ๔ อย่าง อะไรบ้าง ? |
ต/ |
อบาย คือ โลกที่ปราศจากความเจริญ ฯ ในอรรถกถาแจกไว้เป็น ๔ ได้แก่ ๑) นิรยะ ๒) ติรัจฉานโยนิ ๓) ปิตติวิสยะ ๔) อสุรกาย ฯ |
๒๑. | คำว่า สุคติ กับทุคติ คืออะไร ? มีอะไรบ้าง ? |
ต/ |
สุคติ คือ ภูมิเป็นที่ไปข้างดี ฯ มี ๑) เทวะ ๒) มนุษย์ หรือ ๑) สุคติ ๒) โลกสวรรค์ ฯ ทุคติ คือ ภูมิเป็นที่ไปข้างชั่ว ฯ มี ๑) นรก ๒) สัตว์เดรัจฉาน ๓) เปรต ๔) อสุรกาย ฯ |
๒๒. | จงแสดงวิธีเจริญมุทิตา พร้อมทั้งอานิสงส์แห่งการเจริญ พอเป็นตัวอย่าง ? |
ต/ |
วิธีเจริญมุทิตาดังนี้ เมื่อได้เห็นหรือได้ยินมนุษย์ หรือสัตว์เป็นอยู่สุขสบาย เจริญรุ่งเรืองด้วยสุขสมบัติ พึงทำจิตใจให้ชื่นชมยินดี แล้วแผ่มุทิตาจิตไปว่า สัตว์ผู้นี้หนอบริบูรณ์ยิ่งนัก มีสุขสมบัติมาก จงเจริญยั่งยืนด้วยสุขสมบัติยิ่ง ๆ เถิด เมื่อเจริญอยู่เนือง ๆ ย่อมได้รับผลดี คือจะละความริษยาในสมบัติของผู้อื่นได้ ฯ |
๒๓. | สติปัฏฐาน ๔ คืออะไรบ้าง ? การกำหนดลมหายใจเข้าออก ชื่อว่าเจริญสติปัฏฐานข้อไหน ? |
ต/ |
สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๔. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฯ การกำหนดลมหายใจเข้าออกชื่อว่า เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฯ |
๒๔. | อารมณ์ของสติปัฏฐานมีอะไรบ้าง ? ภิกษุผู้เจริญสติปัฏฐานพึงมีคุณสมบัติอะไรบ้าง |
ต/ |
อารมณ์ของสติปัฏฐานมี กาย เวทนา จิต ธรรม ฯ ภิกษุผู้เจริญสติปัฏฐานพึงมีคุณสมบัติ ๓ อย่างได้แก่ ๑. อาตาปี มีความเพียรเผากิเลส ๒. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ ๓. สติมา มีสติ ฯ |
๒๕. | เจริญมรณัสสติอย่างไรจึงแยบคาย บรรเทาความเมาในชีวิต ไม่ติดในโลกธรรม ? |
ต/ |
เจริญพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ ๑. สติ ระลึกถึงความตาย ๒. ญาณ รู้ว่าความตายจักมีแก่ตน ๓. เกิดสังเวชสลดใจ ฯ |
๒๖. | คนวิตกจริตมีนิสัยอย่างไร ? คนประเภทนี้ควรเจริญกัมมัฏฐานบทใด ? |
ต/ |
ชอบคิดฟุ้งซ่าน ตรึกตรองไม่ค่อยลง รู้เห็นไม่ตลอด นึกคิดเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ฯ ควรเจริญอานาปานัสสติกัมมัฏฐาน ฯ |
๒๗. | ท่านว่า ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนาปัญญา พึงรู้ฐานะ ๖ ก่อน ทั้ง ๖ ประการนั้น มีอะไรบ้าง ? |
ต/ |
ฐานะ ๖ มี ๑. อนิจจะ สภาวะอันไม่เที่ยง ๒. อนิจจลักขณะ เครื่องหมายที่จะให้กําหนดรู้ว่าไม่เที่ยง ๓. ทุกขะ สภาวะอันสัตว์ทนได้ยาก ๔. ทุกขลักขณะ เครื่องหมายที่จะให้กําหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ๕. อนัตตา สภาวะอันไม่ใช่ตัวตน ๖. อนัตตลักขณะ เครื่องหมายที่จะกําหนดรู้ว่าเป็นอนัตตา ฯ |
๒๘. | วิปัลลาสคืออะไร ? วัตถุที่วิปัลลาส มีอะไรบ้าง ? |
ต/ |
วิปัลลาส คือ กิริยาที่ถือเอาโดยอาการวิปริตผิดจากความจริง ฯ มี ๔ อย่าง คือ ๑. วิปัลลาสในของที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๒. วิปัลลาสในของที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๓. วิปัลลาสในของที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน ๔. วิปัลลาสในของที่ไม่งามว่างาม ฯ |
๒๙. | ผู้เจริญมหาสติปัฏฐาน ต้องประกอบด้วยธรรมใดบ้างจึงจะกำจัดอภิชฌาและโทมนัสได้ ? |
ต/ |
ต้องประกอบด้วยธรรม ๓ คือ ๑. อาตาปี มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ๒. สัมปชาโน รู้ทั่วพร้อม ๓. สติมา มีสติ ฯ |
๓๐. | พระคิริมานนท์หายจากอาพาธเพราะฟังธรรมจากใคร ? ธรรมนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร ? |
ต/ |
พระคิริมานนท์หายจากอาพาธเพราะฟังธรรมจากพระอานนท์ ฯ ธรรมนั้นว่าด้วยเรื่อง สัญญา ๑๐ ฯ |