เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นโท วิชาอนุพุทธประวัติ ปี 2567
ติวเข้มเตรียมสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นโท วิชาอนุพุทธประวัติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ มีทั้งหมด ๓๒ ข้อดังนี้ครับ |
---|
๑. | อนุพุทธบุคคล คือใคร ? เป็นได้เฉพาะบรรพชิตหรือเฉพาะคฤหัสถ์ ? |
---|---|
ต/ |
อนุพุทธบุคคล คือ สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้มรรคผลตามพระพุทธเจ้า ฯ เป็นได้ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ฯ |
๒. | พุทธบุคคล มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
พุทธบุคคล มี ๓ ประเภท ฯ คือ ๑. สัมมาสัมพุทธะ ตรัสรู้เองโดยชอบ และสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ๒. ปัจเจกพุทธะ ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่สามารถสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ๓. อนุพุทธะ ตรัสรู้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และสามารถสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ฯ |
๓. | ใครคืออนุพุทธองค์แรก ? ได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังพระธรรมเทศนาชื่ออะไร ? |
ต/ |
อนุพุทธองค์แรก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ฯ เพราะฟังธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ฯ |
๔. | เอหิภิกขุอุปสัมปทาที่ประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญะและพระยสะต่างกันอย่างไร ? เพราะเหตุไร ? |
ต/ |
ต่างกัน คือ
ที่ประทานแก่พระโกณฑัญญะมีคำว่า เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ ส่วนที่ประทานแก่พระยสะไม่มีคำว่า เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ ฯ เพราะพระโกณฑัญญะยังไม่ถึงที่สุดทุกข์ ส่วนพระยสะได้ถึงที่สุดทุกข์แล้ว ฯ |
๕. | โกณฑัญญพราหมณ์ มีเหตุจูงใจอะไร จึงได้ออกบวชตามพระมหาบุรุษ ? |
ต/ | เพราะเคยเข้าร่วมทํานายพระลักษณะของพระมหาบุรุษโดยเชื่อมั่นว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน จึงออกบวชตามด้วยหวังว่า เมื่อพระมหาบุรุษตรัสรู้แล้วจักทรงเทศนาโปรดตนให้รู้ตาม ฯ |
๖. | ยสกุลบุตรได้ฟังธรรมจากพระศาสดาเป็นครั้งแรก ณ ที่ไหน ? ธรรมนั้นมีชื่อว่าอะไร ? |
ต/ |
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ฯ ธรรมนั้นมีชื่อว่า อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ฯ |
๗. | “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เป็นคำอุทานของใคร ? เพราะเหตุใดจึงอุทานอย่างนั้น ? |
ต/ |
เป็นคำอุทานของยสกุลบุตร ฯ เพราะเห็นหมู่ชนบริวารนอนหลับ มีอาการพิกลต่าง ๆ ดุจซากศพที่ทิ้งอยู่ในป่าช้าจึงเกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่าย ฯ |
๘. | พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถา แก่ใครเป็นคนแรก ? อนุปุพพิกถานั้นกล่าวถึงเรื่องอะไร ? |
ต/ |
แสดงแก่ยสกุลบุตรเป็นคนแรก ฯ กล่าวถึง ทานคือการให้ ศีลคือความรักษากายวาจาให้เรียบร้อย สวรรค์คือกามคุณอันเลิศที่บุคคลจะพึงได้ พึงถึงด้วยกรรมอันดี คือทานและศีล พรรณนาโทษแห่งกามและอานิสงส์แห่งความออกไปจากกาม ฯ |
๙. | พุทธบริษัท ๔ ผู้เป็นอริยสาวก มีลำดับการเกิดขึ้นก่อนหลังกันอย่างไร ? บุคคลแรกของแต่ละบริษัทนั้น คือใคร ? |
ต/ |
มีลำดับอย่างนี้ คือ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา และภิกษุณี ฯ บุคคลแรกของแต่ละบริษัท มีดังนี้ พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นคนแรกของภิกษุบริษัท บิดาของพระยสะ เป็นคนแรกของอุบาสกบริษัท มารดาและภรรยาของพระยสะ เป็นคนแรกของอุบาสิกาบริษัท พระนางปชาบดี โคตมี เป็นคนแรกของภิกษุณีบริษัท ฯ |
๑๐. | อุบาสกผู้ประกาศตนถึงรัตนะ ๒ และรัตนะ ๓ ว่าเป็นสรณะคนแรก คือใคร ? |
ต/ | อุบาสกผู้ประกาศตนถึงรัตนะ ๒ คือ ตปุสสะและภัลลิกะ อุบาสกผู้ประกาศตนถึงรัตนะ ๓ คือ บิดาพระยสะ ฯ |
๑๑. | พระอรหันต์ ๖๐ องค์ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระศาสนาครั้งแรก มีใครบ้าง ? |
ต/ | มีพระปัญจวัคคีย์ ๕ พระยสะ ๑ สหายของพระยสะที่ปรากฏนาม ๔ และ ที่ไม่ปรากฏนามอีก ๕๐ ฯ |
๑๒. | พระสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีบริวารมากคือใคร ? เพราะท่านมีคุณธรรมอะไร ? |
ต/ |
คือ พระอุรุเวลกัสสปะ ฯ เพราะท่านรู้จักสงเคาระห์บริวารด้วยอามิสบ้าง ด้วยธรรมบ้าง จึงเป็นที่รักใคร่นับถือ สามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจบริวารไว้ได้ ฯ |
๑๓. | ชฎิล ๓ พี่น้อง มีชื่ออะไรบ้าง ? ได้บรรลุพระอรหันต์เพราะฟังพระธรรมเทศนาชื่ออะไร ? |
ต/ |
พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ ฯ เพราะฟังพระธรรมเทศนาชื่อ อาทิตตปริยายสูตร ฯ |
๑๔. | “คนเหล่านี้ทั้งหมดยังไม่ทันถึง ๑๐๐ ปี ก็จักไม่มีเหลือ จักล่วงไปหมด ดูการเล่นไม่มีประโยชน์อะไร ควรขวนขวายหาธรรมเครื่องพ้นดีกว่า” นี้เป็นคําพูดของใคร ? พูดกับใคร ? |
ต/ |
เป็นคำพูดของอุปติสสมาณพ ฯ พูดกับโกลิตมาณพ ฯ |
๑๕. | พระอัสสชิได้แสดงธรรมแก่อุปติสสปริพาชก มีใจความย่อว่าอย่างไร ? |
ต/ | มีใจความย่อว่า "ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาตรัสสอนอย่างนี้" ฯ |
๑๖. | พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระสารีบุตรคู่กับพระโมคคัลลานะ โดยตรัสอุปมาว่าอย่างไร ? |
ต/ |
ตรัสอุปมาว่า พระสารีบุตร เปรียบเหมือนมารดาผู้ให้ทารกเกิด พระโมคคัลลานะ เปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกนั้นที่เกิดแล้ว ฯ |
๑๗. | ธรรมเสนาบดี และนวกัมมาธิฏฐายี เป็นนามของพระสาวกองค์ใด ? เพราะเหตุไรจึงมีนามเช่นนั้น ? |
ต/ |
ธรรมเสนาบดี เป็นนามของพระสารีบุตรเถระ เพราะท่านเป็นกำลังสำคัญยิ่งในการประกาศพระพุทธศาสนา ฯ นวกัมมาธิฏฐายี เป็นนามของพระโมคคัลลานเถระ เพราะท่าน เป็นผู้สามารถกำกับดูแลการก่อสร้าง ฯ |
๑๘. | พระโอวาทว่า “เราจักไม่ชูงวง เข้าไปสู่สกุล” พระพุทธองค์ตรัสแก่พระสาวกองค์ใด ? ที่ไหน ? |
ต/ |
ตรัสแก่ พระโมคคัลลานะ ฯ ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ ฯ |
๑๙. | พระมหากัสสปะโดยปกติถือธุดงค์กี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
ถือธุดงค์ ๓ อย่าง ฯ คือ ๑) นุ่งห่มผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ๒) เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๓) อยู่ป่าเป็นวัตร ฯ |
๒๐. | พระสาวกองค์ใดเป็นผู้มักน้อยสันโดษอย่างยิ่ง ? ท่านทําใจอย่างไร ? |
ต/ |
พระมหากัสสปะ ฯ ทําใจอย่างนี้ คือ เมื่อแสวงหาไม่ได้ ก็ไม่สะดุ้งตกใจ เมื่อแสวงหาได้แล้ว ก็ไม่กําหนัดยินดีในปัจจัย ๔ นั้น ฯ |
๒๑. | พระโอวาทที่พระศาสดาทรงประทานในการให้อุปสมบทแก่พระมหากัสสปะมีกี่ข้อ ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
มี ๓ ข้อ ฯ คือ
๑. เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความยำเกรงอย่างแรงกล้าไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นเถระปานกลาง และผู้ใหม่ ๒. เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรม อันประกอบด้วยกุศล และ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้น ๓. เราจักไม่ละสติที่ไปในกาย ฯ |
๒๒. | สตรีคนแรกที่ได้อุปสมบทในพุทธศาสนาคือใคร ? อุปสมบทด้วยวิธีใด ? |
ต/ |
คือ พระมหาปชาบดีโคตมี ฯ อุปสมบทด้วยวิธีรับครุธรรม ๘ ประการ ฯ |
๒๓. |
พระเถระและพระเถรีผู้มีชื่อต่อไปนี้ ได้รับเอตทัคคะในทางไหน ? ก. พระมหากัจจายนะ ข. พระโมฆราช ค. พระราหุล ง. ปฏาจาราเถรี จ. อุบลวรรณาเถรี |
ต/ |
ก. พระมหากัจจายนะ เป็นเอตทัคคะในทางอธิบายคำย่อให้พิสดาร ข. พระโมฆราช เป็นเอตทัคคะในทางทรงจีวรเศร้าหมอง ค. พระราหุล เป็นเอตทัคคะในทางผู้ใฝ่ใจศึกษาพระธรรมวินัย ง. ปฏาจาราเถรี เป็นเอตทัคคะในทางทรงวินัย จ. อุบลวรรณาเถรี เป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์ฯ |
๒๔. | พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอุปมาด้วยพิณ ๓ สาย แก่ใคร ? ด้วยทรงพระประสงค์ใด ? |
ต/ |
ทรงแสดงแก่พระโสณโกฬิวิสะ ฯ ด้วยทรงพระประสงค์จะให้ท่านทำความเพียรพอประมาณ เพราะท่านทำความเพียรอย่างยิ่ง เดินจงกรมจนเท้าแตก ฯ |
๒๕. | พระสาวกผู้ได้รับการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาเป็นองค์แรก คือใคร ? ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายอย่างไร ? |
ต/ |
คือ พระราธะ ฯ ได้รับยกย่องว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ คือญาณแจ่มแจ้งในธรรมเทศนา ฯ |
๒๖. | พระมหากัสสปเถระเป็นประธานในการทำสังคายนาครั้งแรกที่ไหน ? ใช้เวลานานเท่าไร ? |
ต/ |
ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์ ฯ ใช้เวลา ๗ เดือน ฯ |
๒๗. | ปัญหาว่า โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรปิดบังไว้จึงหลงอยู่ในที่มืด ดังนี้ ใครเป็นผู้ถาม ? และพระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าอย่างไร ? |
ต/ |
อชิตมาณพ เป็นผู้ถาม ฯ ทรงพยากรณ์ว่า โลกคือหมู่สัตว์ อันอวิชชาคือความไม่รู้แจ้งปิดบังไว้ จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด ฯ |
๒๘. | ปัญหาว่า “ข้าพเจ้าจักพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจักไม่แลเห็น” ใครเป็นผู้ถาม ? พระศาสดาทรงพยากรณ์ไว้อย่างไร ? |
ต/ |
พระโมฆราช เป็นผู้ทูลถาม ฯ พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงเป็นคนมีสติ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจักข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายอย่างนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล มัจจุราชจึงจักไม่แลเห็น ฯ |
๒๙. | การทำวัตรสวดมนต์ มีประโยชน์อย่างไร ? จงอธิบาย |
ต/ | เป็นอุบายสงบใจ ไม่ให้คิดวุ่นวายตามอารมณ์ได้ชั่วขณะที่ทำ เมื่อทำประจำวันละ ๒ เวลา ทั้งเช้าเย็น ครั้งละครึ่งชั่วโมง หรือ ๑ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ก็เท่ากับได้ใช้เวลาสงบจิตได้วันละไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๒๔ ชั่วโมง ฯ |
๓๐. | จงให้ความหมายของคําต่อไปนี้ การเข้าพรรษา การออกพรรษา ? |
ต/ |
การเข้าพรรษา หมายถึง การที่ภิกษุผูกใจว่าจะอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน ไม่ไปค้างแรมให้ล่วงราตรีในที่แห่งอื่น ระหว่างผูกใจนั้นเว้นแต่ไปด้วยสัตตาหกรณียะ ฯ การออกพรรษา หมายถึง กาลที่สิ้นสุดกําหนดอยู่จําพรรษาของภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ มีพิธีเป็นสังฆกรรมพิเศษโดยเฉพาะ เรียกโดยภาษาพระวินัยว่า ปวารณากรรม คือ การทําปวารณาของสงฆ์ผู้อยู่ร่วมกันตลอด เวลา ๓ เดือน ฯ |
๓๑. | วันธรรมสวนะ คือวันอะไร ? ทรงอนุญาตให้มีในวันใดบ้าง ? |
ต/ |
คือ วันกําหนดประชุมฟังธรรม หรือที่เรียกว่า “วันพระ” ฯ ในวัน ๘ ค่ำ และวัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ของปักษ์ทั้งข้างขึ้นและ ข้างแรม ฯ |
๓๒. | วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกว่าวันอะไร ? ตรงกับวันอะไร ? |
ต/ |
เรียกว่า วันเทโวโรหณะ ฯ ตรงกับวันมหาปวารณา เพ็ญเดือน ๑๑ ฯ |