เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นโท วิชาธรรมวิภาค ปี 2567
![เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นโท วิชาธรรมวิภาค ปี 2567 เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นโท วิชาธรรมวิภาค ปี 2567, เก็งข้อสอบวิชาธรรม นักธรรมชั้นโท ปี 2567](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhigDLR7aeaQDY_ITRQofbZ8OCM6Fw3gwlpWSU0VyLs91L3PFskUtQTGtl9ATSQFM0m6O2cBHV2rRFmTs2C8tWmWgt2VMva2doPgmGTc5gwU78f0hzLCNT1mdgftdZwNTr_-6Ws21Yh8nnaOnUeKOthHAb4EeaPQ7yWFB0HwgQ_ABJdu_UetMW9k5-vKUM/s1600-rw/dharma-exam-naktham-tho-2567.webp)
ติวเข้มเตรียมสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นโท วิชาธรรมวิภาค ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ มีทั้งหมด ๓๐ ข้อดังนี้ครับ |
---|
๑. | สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน มุ่งผลแห่งการปฏิบัติอย่างไร ? |
---|---|
ต/ |
สมถกรรมฐานมุ่งผล คือความสงบใจ วิปัสสนากรรมฐานมุ่งผล คือความเรืองปัญญา ฯ |
๒. | สังขตธรรมคืออะไร ? มีลักษณะอย่างไร ? |
ต/ |
สังขตธรรม คือธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง ฯ มีลักษณะ คือมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนในท่ามกลาง มีความดับไปในที่สุด ฯ |
๓. | ตจปัญจกกัมมัฏฐาน มีอะไรบ้าง ? เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอย่างไร ? |
ต/ |
ตจปัญจกกัมมัฏฐาน ได้แก่ เกสา โลมา นขา ทันตา และตโจ ฯ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มูลกัมมัฏฐาน ฯ |
๔. | บุคคลาธิฏฐานาเทศนา เทศนามีบุคคลเป็นที่ตั้ง มีอธิบายว่าอย่างไร ? |
ต/ | มีอธิบายว่า การสอนที่ยกบุคคลมาเป็นตัวอย่าง เช่น ในมหาชนกชาดก สอนเรื่องความเพียรโดยกล่าวถึงพระมหาชนกโพธิสัตว์ว่า ทรงมีความเพียรอย่างยิ่ง พยายามว่ายน้ําในท่ามกลางมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ มองไม่เห็นฝั่งอย่างไม่ย่อท้อ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะถึงฝั่ง ให้ได้ และทรงถึงฝั่งได้ดังประสงค์ ฯ |
๕. | บูชา ๒ คืออะไรบ้าง ? การสมาทานศีล ๕ เป็นประจำจัดเป็นบูชาประเภทใด ? |
ต/ |
บูชา ๒ คือ อามิสบูชา บูชาด้วยอามิสสิ่งของ ๑ ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติตาม ๑ ฯ เป็นปฏิบัติบูชา ฯ |
๖. | ปฏิสันถาร มีอะไรบ้าง ? มีประโยชน์แก่ผู้ทำอย่างไรบ้าง ? |
ต/ |
ปฏิสันถาร ได้แก่ ๑) อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยสิ่งของ ๒) ธัมมปฏิสันถาร ต้อนรับโดยธรรม ฯ มีประโยชน์อย่างนี้คือ ๑) เป็นอุบายสร้างความสามัคคีและยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ๒) เป็นการรักษาไมตรีจิตระหว่างกันและกันให้มั่นคงยิ่งขึ้น ฯ |
๗. | ความคิดที่เป็นฝ่ายอกุศล มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
มี ๓ อย่าง ฯ คือ ๑. กามวิตก ความตริในทางกาม ๒. พยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาท ๓. วิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียน ฯ |
๘. | กิเลส กรรม วิบาก ได้ชื่อว่า วัฏฏะ เพราะเหตุไร ? จะตัดให้ขาดได้ด้วยอะไร ? |
ต/ |
เพราะหมุนเวียนกันไป คือกิเลสเกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุให้ทํากรรม ครั้นทํากรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากกรรม เมื่อได้รับวิบากกรรมแล้ว กิเลสก็เกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ ฯ ตัดให้ขาดด้วยอรหัตตมรรค ฯ |
๙. | สังโยชน์คืออะไร ? พระโสดาบันละสังโยชน์อะไรได้ขาดบ้าง ? |
ต/ |
สังโยชน์คือ กิเลสอันผูกใจสัตว์ไว้ ฯ พระโสดาบันละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้นได้ขาด คือ ๑) สักกายทิฏฐิ ๒) วิจิกิจฉา ๓) สีลัพพตปรามาส ฯ |
๑๐. | ญาณ ๓ ที่เป็นไปในทุกขสมุทัยมีอธิบายอย่างไร ? |
ต/ |
๑. ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขสมุทัย จัดเป็นสัจจญาณ ๒. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสมุทัย เป็นสภาพที่ควรละ จัดเป็นกิจจญาณ ๓. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสมุทัย เป็นสภาพที่ละได้แล้ว จัดเป็นกตญาณ ฯ |
๑๑. | กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก หมายถึงอะไร ? |
ต/ |
กายวิเวก หมายถึง สงัดกาย ได้แก่อยู่ในที่สงัด จิตตวิเวก หมายถึง สงัดจิต ได้แก่ทําจิตให้สงบด้วยสมถภาวนา อุปธิวิเวก หมายถึง สงัดกิเลส ได้แก่ทําใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสด้วยวิปัสสนาภาวนา ฯ |
๑๒. | ปาฏิหาริย์คืออะไร ? พระพุทธเจ้าทรงยกย่องปาฎิหาริย์อะไร ว่าเป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์อื่น ? |
ต/ |
ปาฏิหาริย์ คือ การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์ ฯ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่า เป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์อื่น ฯ |
๑๓. | พระอริยบุคคล ๔ ได้แก่ใครบ้าง ? พระอริยบุคคลประเภทใดละอวิชชาได้เด็ดขาด ? |
ต/ |
พระอริยบุคคล ๔ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ฯ พระอรหันต์ละอวิชชาได้เด็ดขาด ฯ |
๑๔. | อุปาทาน คืออะไร ? การถือเราถือเขาด้วยอำนาจมานะ จนเป็นเหตุถือพวก จัดเป็นอุปาทานอะไร ในอุปาทาน ๔ ? |
ต/ |
อุปาทาน คือการถือมั่นข้างเลว ได้แก่ถือรั้น ฯ จัดเป็น อัตตวาทุปาทาน ฯ |
๑๕. | กิจในอริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ? |
ต/ |
กิจในอริยสัจ ๔ ได้แก่ ๑) ปริญญา กำหนดรู้ทุกขสัจ ๒) ปหานะ ละสมุทัยสัจ ๓) สัจฉิกรณะ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ ๔) ภาวนา ทำมัคคสัจให้เกิด ฯ |
๑๖. | เมตตา มีความหมายว่าอย่างไร ? เมตตาในพรหมวิหาร และในอัปปมัญญา ต่างกันอย่างไร ? |
ต/ |
เมตตา มีความหมายว่า ปรารถนาความสุขความเจริญต่อผู้อื่นด้วยความจริงใจ ฯ ต่างกันโดยวิธีแผ่ คือ แผ่โดยเจาะจงก็ดี โดยไม่เจาะจงก็ดี จัดเป็นพรหมวิหาร ถ้าแผ่โดยไม่เจาะจงไม่จำกัด จัดเป็นอัปปมัญญา ฯ |
๑๗. | ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยอะไรบ้าง ? |
ต/ |
ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นกับรส กายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยกายกับโผฏฐัพพะ ฯ |
๑๘. | มาร ๕ คืออะไรบ้าง ? ปัญจขันธ์ ได้ชื่อว่าเป็นมารเพราะเหตุไร ? |
ต/ |
มาร ๕ คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร และเทวปุตตมาร ฯ เพราะปัญจขันธ์นั้น บางทีทําความลําบากให้ อันเป็นเหตุเบื่อหน่ายจนถึงฆ่าตัวตายเสียเองก็มี ฯ |
๑๙. | มัจจุมารได้แก่อะไร ? ได้ชื่อว่าเป็นมารเพราะเหตุไร ? |
ต/ |
มัจจุมาร ได้แก่ ความตาย ฯ ชื่อว่าเป็นมาร เพราะเมื่อความตายเกิดขึ้น บุคคลย่อมหมดโอกาสที่จะทําความดีอีกต่อไป ฯ |
๒๐. | ในวิมุตติ ๕ วิมุตติอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหนเป็นโลกุตตระ ? |
ต/ |
ตทังควิมุตติ และวิกขัมภนวิมุตติ จัดเป็นโลกิยะ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ จัดเป็นโลกุตตระ ฯ |
๒๑. | ในธรรมคุณบทว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว” หมายถึงอะไร ? |
ต/ | หมายถึง ปริยัติธรรมและปฏิเวธธรรม ฯ |
๒๒. | จริต คือ อะไร ? คนมีปกติเชื่อง่ายเป็นจริตอะไร ? |
ต/ |
จริต คือ พื้นเพอัธยาศัยของบุคคลที่แสดงออกมาตามปกติเป็นประจำ ฯ คนมีปกติเชื่อง่ายเป็น สัทธาจริต ฯ |
๒๓. | อนุสัย หมายถึงกิเลสประเภทไหน ? ได้ชื่อเช่นนั้นเพราะเหตุไร ? |
ต/ |
อนุสัย หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ฯ เพราะกิเลสชนิดนี้ บางทีไม่ปรากฏ แต่เมื่อมีอารมณ์มายั่ว ย่อมเกิดขึ้นในทันใด ฯ |
๒๔. | วิญญาณฐิติต่างจากสัตตาวาสอย่างไร ? |
ต/ |
ต่างกันอย่างนี้
ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ เรียกว่า วิญญาณฐิติ ภพเป็นที่อยู่แห่งสัตว์ เรียกว่า สัตตาวาส ฯ |
๒๕. | พระพุทธคุณ บทว่า อรหํ แปลว่าอย่างไรได้บ้าง ? |
ต/ |
อรหํ แปลว่า ๑. เป็นผู้เว้นไกลจากกิเลสและบาปกรรม ๒. เป็นผู้หักกําแห่งสังสารจักร ๓. เป็นผู้ควรแนะนําสั่งสอนเขา ๔. เป็นผู้ควรรับความเคารพนับถือของเขา ๕. เป็นผู้ไม่มีข้อลับ ไม่ได้ทําความเสียหายอันจะพึงซ่อนเพื่อมิให้คนอื่นรู้ ฯ |
๒๖. | พระพุทธคุณบทหนึ่งว่า เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร ถามว่ากำได้แก่อะไร สังสารจักรได้แก่อะไร ? |
ต/ |
กำ ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม สังสารจักร ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก ฯ |
๒๗. | พระสงฆ์ปฏิบัติอย่างไร จึงได้ชื่อว่า อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ? |
ต/ | คือ ไม่ปฏิบัติลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ประพฤติตรงๆ ต่อพระศาสดา และเพื่อนสาวกด้วยกัน ไม่อําพรางความในใจ ไม่มีแง่มีงอน ฯ |
๒๘. | ครุกรรม คืออะไร ? อนันตริยกรรมกับสมาบัติ ๘ เป็นครุกรรมฝ่ายกุศลหรืออกุศล ? |
ต/ |
ครุกรรม คือ กรรมหนัก ฯ อนันตริยกรรม เป็นครุกรรมฝ่ายอกุศล ส่วนสมาบัติ ๘ เป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ฯ |
๒๙. | ในกรรม ๑๒ อุปัตถัมภกกรรม กับอุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ? |
ต/ |
อุปัตถัมภกกรรม ทำหน้าที่สนับสนุนผลแห่งชนกกรรม อุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่บีบคั้นผลแห่งชนกกรรม ฯ |
๓๐. | ธุดงค์ คืออะไร ? มีกี่หมวด ? หมวดไหนว่าด้วยเรื่องอะไร ? |
ต/ |
ธุดงค์ คือ วัตตจริยาพิเศษอย่างหนึ่ง เป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ มี ๔ หมวด ฯ ดังนี้ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องจีวร หมวดที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องบิณฑบาต หมวดที่ ๓ ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ หมวดที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องความเพียร ฯ |