เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก วิชาพุทธานุพุทธประวัติ ปี 2567

เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก วิชาพุทธานุพุทธประวัติ ปี 2567,เก็งข้อสอบวิชาพุทธานุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นเอก ปี 2567



⏏︎ ดาวน์โหลดเก็งข้อสอบ


  ติวเข้มเตรียมสอบธรรมสนามหลวง
  นักธรรมชั้นเอก วิชาพุทธานุพุทธประวัติ
  ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗
  มีทั้งหมด ๓๒ ข้อ ดังนี้ครับ

๑. ศากยวงศ์สืบเชื้อสายมาจากใคร ?  ที่ได้นามว่า ศากยะ เพราะเหตุไร ?
ต/ ศากยวงศ์สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกกากราช ฯ
ที่ได้นามว่า ศากยะ เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑) เพราะได้ชื่อตามชนบทที่ตั้งเมือง
๒) เพราะมีความกล้าหาญ สามารถตั้งเมืองได้เอง ฯ

๒. อาสภิวาจา คือวาจาเช่นไร ?  มีใจความว่าอย่างไร ?
ต/ อาสภิวาจา คือวาจาที่เปล่งอย่างองอาจ เป็นภาษิตของบุรุษพิเศษอาชาไนย ฯ
มีใจความว่า เราเป็นผู้เลิศ เป็นผู้เจริญ เป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่มิได้มี ฯ

๓. พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานจาตุรงคมหาปธาน มีใจความว่าอย่างไร ?  ที่ไหน ?  และได้รับผลอย่างไร ?
ต/ มีใจความว่า หากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วจักไม่ลุกขึ้น แม้เนื้อและเลือดจะแห้งเหือดไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตาม ฯ
ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฯ
ได้รับผล คือ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณสมดังพระหฤทัย ฯ

๔. พระพุทธเจ้าหลังจากได้ตรัสรู้แล้ว ทรงเปล่งอุทานในยามสุดท้ายว่าอย่างไร ?
ต/ ทรงเปล่งอุทานว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นพราหมณ์นั้น ย่อมกําจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยกําจัดมืดให้สว่างฉะนั้น ฯ

๕. ทางปฏิบัติที่สุด ๒ อย่าง อันบรรพชิตไม่ควรเสพนั้นคืออะไรบ้าง ?  มีอธิบายอย่างไร ?
ต/ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ ๑. กามสุขัลลิกานุโยค ๒. อัตตกิลมถานุโยค ฯ
มีอธิบายดังนี้
กามสุขัลลิกานุโยค คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของคนอริยะ คือผู้บริสุทธิ์ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
อัตตกิลมถานุโยค คือการประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนเปล่า ให้เกิดทุกข์แก่ผู้ประกอบ ไม่ทำผู้ประกอบให้เป็นอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ฯ

๖. พระมหาบุรุษทรงทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายแล้ว ทรงบรรเทาความเมาในอะไรได้ ?
ต/ ทรงบรรเทา คือ
๑. ความเมาในวัย
๒. ความเมาในความไม่มีโรค
๓. ความเมาในชีวิต ฯ

๗. ในขณะเสวยวิมุตติสุขใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาข้อธรรมอะไร ?  และธรรมนั้นมีใจความย่อว่าอย่างไร ?
ต/ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ฯ
มีใจความย่อว่า สภาวะอย่างหนึ่งเป็นผลเกิดแต่เหตุอย่างหนึ่งแล้ว ซ้ำเป็นเหตุยังผลอย่างอื่นให้เกิดต่อไปอีก เหมือนลูกโซ่เกี่ยวคล้องกันเป็นสาย ฯ

๘. พุทธจักษุ กับธรรมจักษุ ต่างกันอย่างไร ?  แต่ละอย่างใครได้บรรลุเป็นองค์แรก ?
ต/ พุทธจักษุ คือ จักษุของพระพุทธเจ้า หมายถึง พระปัญญาของพระพุทธองค์ ที่ทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์
ธรรมจักษุ หมายถึง ดวงตาเห็นธรรม ได้แก่ โสดาปัตติมรรค ฯ
พุทธจักษุ พระพุทธเจ้าได้เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียว
ธรรมจักษุ พระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุเป็นองค์แรก ฯ

๙. ภัพพบุคคลและอภัพพบุคคล ที่ท่านเปรียบกับดอกบัว ๔ เหล่า คือบุคคลประเภทใดบ้าง ?
ต/ ภัพพบุคคล คือ บุคคลผู้สามารถจะตรัสรู้ธรรมได้ ได้แก่
๑. อุคฆติตัญญู ที่เปรียบด้วยดอกบัวพ้นน้ำ
๒. วิปจิตัญญู ที่เปรียบด้วยดอกบัวเสมอน้ำ
๓. เนยยะ ที่เปรียบด้วยดอกบัวที่ยังอยู่ในน้ำ
อภัพพบุคคล คือ บุคคลผู้ไม่สามารถจะตรัสรู้ธรรมได้ ได้แก่
๔. ปทปรมะ ที่เปรียบด้วยดอกบัวที่เป็นภักษาหารแห่งปลาและเต่า ฯ

๑๐. อนิมิสเจดีย์และรัตนจงกรมเจดีย์ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำกิจอะไร ?
ต/ อนิมิสเจดีย์ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับยืนจ้องดูต้นพระมหาโพธิ์ โดยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน
รัตนจงกรมเจดีย์ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้นแล้วเสด็จจงกรม ณ ที่นั้นตลอด ๗ วัน ฯ

๑๑. ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี เกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะ ความว่าอย่างไร ?  ในขณะนั้น ท่านเป็นพระอริยบุคคลชั้นไหน ?
ต/ ความว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้ง หมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ
ในขณะเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน ฯ

๑๒. อนัตตลักขณสูตร และ อาทิตตปริยายสูตร มีใจความโดยย่อ ว่าอย่างไร ?
ต/ อนัตตลักขณสูตร มีใจความโดยย่อว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งรวมเรียกว่า ขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน ฯ
อาทิตตปริยายสูตร มีใจความโดยย่อว่า อายตนะภายใน อายตนะ ภายนอก วิญญาณ สัมผัส และเวทนาที่เกิดแต่สัมผัส เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ และร้อนเพราะ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ร่ำไรรำพัน เจ็บกาย เสียใจ คับใจ ฯ

๑๓. พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อครั้งยังเป็นพระราชกุมารได้ตั้งความปรารถนาไว้อย่างไรบ้าง ?
ต/ พระเจ้าพิมพิสาร ได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า
๑) ขอให้ข้าพเจ้า ได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินมคธนี้เถิด
๒) ขอท่านผู้เป็นพระอรหันต์ผู้รู้เองเห็นเองโดยชอบ พึงมายังแว่นแคว้นของข้าพเจ้าผู้ได้รับอภิเษกแล้ว
๓) ขอข้าพเจ้า พึงได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์นั้น
๔) ขอพระอรหันต์นั้น พึงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า
๕) ขอข้าพเจ้า พึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระอรหันต์นั้น

๑๔. โอวาทปาฏิโมกข์ทรงแสดงที่ไหน ?  มีใจความย่อว่าอย่างไร ?
ต/ ที่วัดเวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์ ฯ
มีใจความย่อว่า ไม่ทําบาปทั้งปวง ทํากุศลให้ถึงพร้อม ทําใจให้บริสุทธิ์ ฯ

๑๕. พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ด้วยอาการ ๔ อย่าง อะไรบ้าง ?
ต/ ด้วยอาการดังนี้
๑. สันทัสสนา อธิบายให้แจ่มแจ้งให้เข้าใจชัด
๒. สมาทปนา ชวนให้มีแก่ใจสมาทาน คือ ทำตาม
๓. สมุตเตชนา ชักนำให้เกิดอุตสาหะอาจหาญเพื่อจะทำ
๔. สัมปหังสนา พยุงให้ร่าเริงในอันทำ ฯ

๑๖. “ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออะไร” ใครเป็นผู้ถาม ใครเป็นผู้ตอบ ?  และตอบว่าอย่างไร ?
ต/ พระสารีบุตรเป็นผู้ถาม พระปุณณมันตานีบุตรเป็นผู้ตอบ ฯ
ตอบว่า เราประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความดับไม่มีเชื้อ ฯ

๑๗. พระสาวกสาวิกาต่อไปนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในทางใด ?
๑. พระอัญญาโกญทัญญะเถระ
๒. พระมหากัสสปะเถระ
๓. พระราธะเถระ
๔. พระอุบลวรรณาเถรี
๕. พระธัมมทินนาเถรี
ต/ ๑. พระอัญญาโกญทัญญะเถระ เป็นผู้เลิศในทางรัตตัญญู
๒. พระมหากัสสปะเถระ เป็นผู้เลิศในทางถือธุดงค์
๓. พระราธะเถระ เป็นผู้เลิศในทางผู้มีปฏิภาณ
๔. พระอุบลวรรณาเถรี เป็นผู้เลิศในทางมีฤทธิ์
๕. พระธัมมทินนาเถรี เป็นผู้เลิศในทางธรรมกถึก ฯ

๑๘. พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระสาวกองค์ใดว่า “ไม่ทำศรัทธาและโภคทรัพย์ของตระกูลให้เสีย” ?  และทรงอุปมาเปรียบเทียบว่าอย่างไร ?
ต/ ทรงสรรเสริญพระโมคคัลลานะ ฯ
ทรงอุปมาว่า “ประหนึ่งแมลงผึ้งอันเที่ยวไปในสวนดอกไม้ ไม่ทำ สีและกลิ่นของดอกไม้ให้ช้ำ ถือเอาแต่รสบินไป ฉะนั้น” ฯ

๑๙. “สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ๆ ไม่ชอบใจหมด” เป็นคำพูดของใคร ?  พระพุทธองค์ตรัสตอบว่าอย่างไร ?
ต/ เป็นคำพูดของ ทีฆนขะ อัคคิเวสสนโคตร ฯ
ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้น ฯ

๒๐. พระพุทธโอวาท ๓ ข้อ ที่ทรงประทานแก่พระมหากัสสปะ ว่าอย่างไรบ้าง ?
ต/ พระโอวาท ๓ ข้อว่าดังนี้
๑. กัสสปะ ท่านพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความยําเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นปานกลางอย่างแรงกล้า
๒. เราจักฟังธรรม อันใดอันหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยโสตฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความ
๓. เราจักไม่ละสติที่ไปในกาย คือ พิจารณากายเป็นอารมณ์ ฯ

๒๑. พระพุทธพจน์ว่า “ภทฺเทกรตฺโต” ผู้มีราตรีเดียวอันเจริญ หมายถึง การปฏิบัติอย่างไร ?  พระสาวกรูปใดอธิบายพระพุทธพจน์นี้ ?
ต/ หมายถึง เป็นผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวัน และกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาท ฯ
พระมหากัจจายนะ อธิบายพระพุทธพจน์นี้ฯ

๒๒. ปัญหาว่า “โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรปิดบังไว้จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด” ดังนี้ใครเป็นผู้ถาม ?  ได้รับคําพยากรณ์ว่าอย่างไร ?
ต/ อชิตมาณพเป็นผู้ถาม ฯ
ได้รับการพยากรณ์ว่า โลกคือหมู่สัตว์ อันอวิชชาคือความไม่รู้แจ้งปิดบังไว้ จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด ฯ

๒๓. พระสาวกที่มักเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า “สุขหนอ สุขหนอ” ดังนี้ คือใคร ?  ท่านเปล่งอุทานเช่นนี้ เพราะอะไร ?
ต/ พระสาวกท่านนี้คือ พระภัททิยะ
เพราะเมื่อก่อนท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งในวังนอกวัง ทั้งในเมืองนอกเมือง จนตลอดทั่วอาณาเขต แม้มีคนคอยรักษาอย่างนี้แล้ว ยังต้องหวาดระแวงสะดุ้งกลัวอยู่เป็นนิตย์ ครั้นทรงออกบวชได้บรรลุอรหัตผลแล้ว แม้อยู่ในที่ไหนๆ ก็ไม่หวาดระแวง ไม่สะดุ้งกลัว ไม่ต้องขวนขวาย มีใจปลอดโปร่ง เป็นอิสระแก่ตน จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น ฯ

๒๔. อาสยะ และ ปโยคะ ในสัตตูปการสัมปทา หมายถึงอะไร ?
ต/ อาสยะ หมายถึง ความมีพระหฤทัยเยือกเย็น ด้วยความกรุณาปรารถนาคุณประโยชน์อยู่เป็นนิตย์ แม้ในบุคคลที่ทําผิดต่อพระองค์ มีพระเทวทัตเป็นต้น ก็ยังทรงกรุณา ฯ
ปโยคะ หมายถึง ความมีพระหฤทัยมิได้มุ่งหวังต่ออามิส เทศนาสั่งสอนสัตว์ ด้วยข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯ

๒๕. ธรรมุเทศ ๔ ข้อ ที่พระรัฐบาลแสดงแก่พระเจ้าโกรัพยะ มีใจความว่าอย่างไรบ้าง ?
ต/ มีใจความว่า
๑. โลกคือหมู่สัตว์ อันชราเป็นผู้นํา นําเข้าไปใกล้ ไม่ยั่งยืน
๒. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่จําเพาะตน
๓. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของตน จําต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
๔. โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ฯ

๒๖. พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ?
ต/ ด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ
๑. เป็นพหูสูต
๒. มีสติ
๓. มีคติ
๔. มีธิติ
๕. เป็นพุทธอุปัฏฐาก ฯ

๒๗. การอุปสมบทสำหรับพระภิกษุในครั้งพุทธกาลมีทั้งหมดกี่วิธี ?  อะไรบ้าง ?  ในปัจจุบันใช้วิธีใด ?
ต/ มี ๓ วิธี ฯ คือ
๑) เอหิภิกขุอุปสัมปทา
๒) ติสรณคมนูปสัมปทา
๓) ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ฯ
ปัจจุบันใช้วิธี ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ฯ

๒๘. ปาวาลเจดีย์และมกุฏพันธนเจดีย์มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร ?
ต/ ปาวาลเจดีย์ เป็นที่ทรงปลงพระชนมายุสังขาร ฯ
มกุฏพันธนเจดีย์ เป็นที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ฯ

๒๙. ถูปารหบุคคล คือใคร ?  มีกี่ประเภท ?  อะไรบ้าง ?
ต/ ถูปารหบุคคล คือ บุคคลผู้ควรแก่การบรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูปเพื่อสักการะบูชา ฯ
มี ๔ ประเภท ฯ คือ
๑) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒) พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓) พระอรหันตสาวก
๔) พระเจ้าจักรพรรดิราช ฯ

๓๐. พระมหากัสสปะเถระชักชวนภิกษุทั้งหลายให้ทำสังคายนาครั้งแรก เพราะปรารภเหตุอะไร ?
ต/ เพราะปรารภเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. ระลึกถึงคำของสุภัททวุฑฒบรรพชิตกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย
๒. ระลึกถึงอุปการคุณของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่แก่ตน ฯ

๓๑. สุภัททวุฑฒบรรพชิต กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยว่าอย่างไร ?  และทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรในกาลต่อมา ?
ต/ กล่าวว่า “เราทั้งหลายได้พ้นเสียแล้วด้วยดีจากพระสมณะนั้น ด้วยท่านสั่งสอนว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร เราเกรงก็ต้องทำตาม เป็นความลำบากนัก ก็บัดนี้เราจะทำสิ่งใด หรือมิพอใจทำสิ่งใดก็ได้ตามความปรารถนา จะต้องเกรงแต่บัญชาของผู้ใดเล่า” ฯ
เป็นเหตุให้เกิดสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๑ ฯ

๓๒. การทำสังคายนาครั้งแรก เกิดขึ้นหลังจากปรินิพพานล่วงแล้วกี่เดือน ?  ใช้เวลาเท่าไร ?  ใครทำหน้าที่ปุจฉาและวิสัชนา ?
ต/ เกิดขึ้นหลังจากปรินิพพานล่วงแล้ว ๓ เดือน ฯ
ใช้เวลา ๗ เดือน ฯ
พระมหากัสสปะทำหน้าที่ปุจฉา
พระอุบาลีทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย
พระอานนท์ทำหน้าที่วิสัชนาพระสูตร และพระอภิธรรม ฯ

⏏︎ ดาวน์โหลดเก็งข้อสอบ