เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก วิชาวินัยบัญญัติ ปี 2567
ติวเข้มเตรียมสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้นเอก วิชาวินัยบัญญัติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ มีทั้งหมด ๓๑ ข้อ ดังนี้ครับ |
---|
๑. | มูลเหตุที่ทําให้เกิดสังฆกรรมมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? |
---|---|
ต/ |
มูลเหตุที่ทำให้เกิดสังฆกรรมมี ๒ อย่าง ฯ คือ ๑. มีภิกษุบริษัทเพิ่มจํานวนมากขึ้น ๒. มีพระพุทธประสงค์เพื่อให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการบริหาร หมู่คณะ ฯ |
๒. | ภิกษุผู้ปรารถนาความตั้งอยู่ยั่งยืนของพระธรรมวินัย ควรปฏิบัติตนอย่างไร ? |
ต/ | ควรตั้งอยู่ใน สีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา และลัชชีธรรม สำรวมในพระปาติโมกข์ ประกอบด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สำเหนียกศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ฯ |
๓. | ญัตติและอนุสาวนา หมายถึงอะไร ? ญัตติมีใช้ในสังฆกรรมอะไรบ้าง ? |
ต/ |
ญัตติ หมายถึง คำเผดียงสงฆ์ อนุสาวนา หมายถึง การสวดประกาศคำปรึกษาและข้อตกลงของสงฆ์ ฯ ญัตติมีใช้ใน ๓ สังฆกรรม คือ ๑) ญัตติกรรม ๒) ญัตติทุติยกรรม ๓) ญัตติจตุตถกรรม ฯ |
๔. | สีมา คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไร ? |
ต/ |
สีมา คือ เขตประชุมของสงฆ์ผู้ทำสังฆกรรม ฯ มีความสำคัญ คือ พระศาสดาทรงพระอนุญาตให้สงฆ์สามัคคีกันทำสังฆกรรมภายในสีมา ถ้าไม่มีสีมาก็ไม่มีเขตประชุม ฯ |
๕. | สีมามีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
สีมา มี ๒ ประเภท ฯ คือ ๑. พัทธสีมา คือ แดนที่ผูก หมายถึงเขตอันสงฆ์กําหนดเอาเอง ๒. อพัทธสีมา คือ แดนที่ไม่ได้ผูก หมายถึงเขตอันเขากําหนดไว้โดยปกติของบ้านเมือง หรือเขตที่มีสัญญัติอย่างอื่นเป็นเครื่องกําหนด ฯ |
๖. | สังฆกรรม ๔ นั้น อย่างไหนต้องทําในสีมา อย่างไหนทํานอกสีมาได้ ? |
ต/ |
ญัตติกรรม ญัตติทุติยกรรม และญัตติจตุตถกรรม ต้องทําในสีมาเท่านั้น อปโลกนกรรม ทํานอกสีมาได้ ฯ |
๗. | สีมาสังกระ คืออะไร ? สงฆ์จะทำสังฆกรรมในสีมาเช่นนั้นได้หรือไม่อย่างไร ? |
ต/ |
สีมาสังกระ คือ สีมาที่สมมติคาบเกี่ยวกันระหว่างสีมาที่สมมติไว้เดิมและสีมาที่สมมติขึ้นใหม่ ฯ สงฆ์ทำสังฆกรรมในสีมาที่สมมติไว้เดิมได้ แต่ทำในสีมาที่สมมติขึ้นใหม่ไม่ได้ ฯ |
๘. | ภิกษุผู้ควรได้รับสมมติให้เป็นภัตตุทเทสกะ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นไร ? |
ต/ |
ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้ คือ ๑. เว้นอคติ ๔ คือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ๒. รู้จักภัตรที่ควรแจกหรือมิควรแจก ๓. รู้จักลำดับที่พึงแจก ฯ |
๙. | เจ้าอธิการที่สงฆ์สมมติให้เป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ ในพระวินัยมี ๕ แผนก อะไรบ้าง ? |
ต/ |
มีดังนี้ ๑) เจ้าอธิการแห่งจีวร ๒) เจ้าอธิการแห่งอาหาร ๓) เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ ๔) เจ้าอธิการแห่งอาราม ๕) เจ้าอธิการแห่งคลัง ฯ |
๑๐. | กฐิน มีชื่อมาจากอะไร ? ผ้าที่เป็นกฐินได้มีอะไรบ้าง ? |
ต/ |
กฐิน มีชื่อมาจากไม้สะดึงที่ลาดหรือกางออกสำหรับขึงจีวรเพื่อเย็บ ฯ ผ้าที่เป็นกฐินได้มี ๑. ผ้าใหม่ ๒. ผ้าเทียมใหม่คือผ้าฟอกสะอาดแล้ว ๓. ผ้าเก่า ๔. ผ้าบังสุกุล ๕. ผ้าที่ตกตามร้านตลาดซึ่งเขานำมาถวายสงฆ์ ฯ |
๑๑. | ผ้าที่ไม่ทรงอนุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐิน ได้แก่ผ้าเช่นไรบ้าง ? |
ต/ |
ผ้าที่ไม่ทรงอนุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐิน คือ ๑. ผ้าที่ไม่ได้เป็นสิทธิ์ เช่น ผ้าที่ขอยืมเขามา ๒. ผ้าที่ได้มาโดยอาการอันมิชอบ คือ ทำนิมิตได้มา พูดเลียบเคียงได้มา และผ้าเป็นนิสสัคคีย์ ๓. ผ้าที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ แต่เก็บค้างคืนไว้ ฯ |
๑๒. | กรานกฐิน ได้แก่การทําอย่างไร ? |
ต/ | กรานกฐิน ได้แก่ เมื่อมีผ้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์ในเดือนท้ายฤดูฝน พอจะทําเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ สงฆ์พร้อมใจกันยกให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งผู้เหมาะสม ภิกษุผู้ได้รับผ้านั้น นําไปทําเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ให้แล้วเสร็จในวันนั้น แล้วมาบอกแก่ภิกษุผู้ยกผ้านั้นให้ เพื่ออนุโมทนา ภิกษุเหล่านั้น อนุโมทนา ทั้งหมดนี้ คือ กรานกฐิน ฯ |
๑๓. | ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์อะไรบ้าง ? |
ต/ |
๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์ ๒. เที่ยวจาริกไปไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสํารับ ๓. ฉันคณโภชน์ ปรัมปรโภชน์ได้ ๔. เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาล ให้ยาวออกไปตลอด ๔ เดือนฤดูเหมันต์ด้วย ฯ |
๑๔. | บรรพชาและอุปสมบท สําเร็จด้วยวิธีอะไร ? |
ต/ |
บรรพชาสําเร็จด้วยวิธีให้บรรพชาเปกขะรับไตรสรณคมน์ อุปสมบทสําเร็จด้วยการสวดญัตติจตุตถกรรมวาจา ฯ |
๑๕. | ผู้จะเข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาต้องประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ? |
ต/ |
ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ ๑. เป็นชาย ๒. มีอายุครบ ๒๐ ปี ๓. ไม่เป็นมนุษย์วิบัติ เช่น ถูกตอน หรือเป็นกะเทย เป็นต้น ๔. ไม่เคยทำอนันตริยกรรม ๕. ไม่เคยต้องปาราชิก หรือไม่เคยเข้ารีตเดียรถีย์ทั้งที่เป็นภิกษุ ฯ |
๑๖. | สงฆ์ผู้จะให้การอุปสมบทแก่กุลบุตร ในพระวินัยมีกําหนดจํานวนภิกษุไว้อย่างไร ? ถ้าไม่ครบตามจํานวนนั้น จัดเป็นวิบัติอะไร ? |
ต/ |
มีกําหนดอย่างนี้ คือ ในมัธยมชนบท ๑๐ รูปเป็นอย่างต่ำ ในปัจจันตชนบท ๕ รูป เป็นอย่างต่ำ ฯ ถ้าไม่ครบตามจำนวนจัดเป็น ปริสวิบัติ ฯ |
๑๗. | การบอกนิสสัย ๔ และอกรณียะ ๔ บอกในเวลาใด ? และใครเป็นผู้บอก ? |
ต/ |
ท่านให้บอกในลำดับแห่งอุปสมบทแล้ว ห้ามไม่ให้บอกก่อนหน้าอุปสมบท ฯ อุปัชฌายะบอกก็ได้ กรรมวาจาจารย์หรืออนุสาวนาจารย์บอกก็ได้ ฯ |
๑๘. | วิวาทาธิกรณ์ คืออะไร ? ระงับได้ด้วยอธิกรณสมถะข้อใดบ้าง ? |
ต/ |
วิวาทาธิกรณ์ คือ การเถียงกันปรารภพระธรรมวินัย ฯ ระงับได้ด้วย สัมมุขาวินัย และเยภุยยสิกา ฯ |
๑๙. | อนุวาทาธิกรณ์คืออะไร ? หากไม่รีบระงับจะเกิดผลเสียอย่างไร ? |
ต/ |
อนุวาทาธิกรณ์ คือ การโจทกันด้วยอาบัตินั้น ๆ ฯ หากไม่รีบระงับจะทําให้เสียสีลสามัญญตาและเสียสามัคคี เป็นทางแตกเป็นนานาสังวาส ฯ |
๒๐. | อนุวาทาธิกรณ์เช่นไร อันภิกษุจะพึงยกขึ้นพิจารณาตัดสินได้ ? |
ต/ |
ต้องเป็นเรื่องมีมูล คือ
เรื่องที่ได้เห็นเอง ๑ เรื่องที่ได้ยินเอง หรือมีผู้บอก และเชื่อว่าเป็นจริง ๑ เรื่องที่เว้นจาก ๒ สถานนั้น แต่รังเกียจโดยอาการ ๑ ฯ |
๒๑. | สัมมุขาวินัยมีองค์เท่าไร ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
สัมมุขาวินัย มีองค์ ๔ ฯ คือ ๑) ในที่พร้อมหน้าสงฆ์ ๒) ในที่พร้อมหน้าธรรม ๓) ในที่พร้อมหน้าวินัย ๔) ในที่พร้อมหน้าบุคคล ฯ |
๒๒. | พระอรรถกถาจารย์แสดงลักษณะปกปิดอาบัติสังฆาทิเสสไว้เป็น ๕ คู่ อย่างไรบ้าง ? |
ต/ |
ท่านแสดงไว้ ๕ คู่ ดังนี้ ๑. เป็นอาบัติ และรู้ว่าเป็นอาบัติ ๒. เป็นปกตัตตะ และรู้ว่าเป็นปกตัตตะ ๓. ไม่มีอันตราย และรู้ว่าไม่มีอันตราย ๔. อาจอยู่ และรู้ว่าอาจอยู่ ๕. ใคร่จะปิด และปิดไว้ ฯ |
๒๓. | อุกเขปนียกรรม และ นิยสกรรม สงฆ์พึงลงแก่ภิกษุประพฤติผิดธรรมวินัยอย่างไร ? |
ต/ |
ประพฤติผิดอย่างนี้ คือ อุกเขปนียกรรม พึงลงแก่ภิกษุผู้ ไม่เห็นอาบัติ ไม่ทำคืนอาบัติหรือไม่สละทิฏฐิบาป นิยสกรรม พึงลงแก่ภิกษุผู้ มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีอันไม่ควร ฯ |
๒๔. | กิจจาธิกรณ์ และนิคคหะ คืออะไร ? |
ต/ |
กิจจาธิกรณ์ คือ กิจอันจะพึงทําด้วยประชุมสงฆ์ นิคคหะ คือ การข่ม เป็นกิจอย่างหนึ่งแห่งผู้ปกครองหมู่ ฯ |
๒๕. | ในทางพระวินัย การคว่ำบาตร หมายถึงอะไร ? และจะหงายบาตรได้เมื่อไร ? |
ต/ |
การคว่ำบาตร หมายถึง การไม่ให้คบหาสมาคมด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ ๑. ไม่รับบิณฑบาตของเขา ๒. ไม่รับนิมนต์ของเขา ๓. ไม่รับไทยธรรมของเขา ฯ เมื่อผู้ถูกคว่ำบาตรนั้นเลิกกล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้นนั้นแล้ว กลับประพฤติดี พึงหงายบาตรแก่เขาได้ ฯ |
๒๖. | ลิงคนาสนา คืออะไร ? บุคคลที่ทรงพระอนุญาตให้ทำลิงคนาสนามีกี่ประเภท ? ใครบ้าง ? |
ต/ |
ลิงคนาสนา คือ การให้ฉิบหายเสียจากเพศ ฯ มี ๓ ประเภท ฯ คือ ๑) ภิกษุต้องอันติมวัตถุแล้ว ยังปฏิญญาตนเป็นภิกษุ ๒) บุคคลผู้อุปสมบทไม่ขึ้น ได้รับอุปสมบทแต่สงฆ์ ๓) สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ มีเป็นผู้มักผลาญชีวิต เป็นต้นฯ |
๒๗. | พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ คืออะไร ? |
ต/ | พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ คือ กฎหมายฉบับหนึ่งว่าด้วยคณะสงฆ์มีศักดิ์รองลงมาจากรัฐธรรมนูญ ฯ |
๒๘. | เจ้าอาวาส ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ ใครเป็นผู้แต่งตั้ง ? |
ต/ |
สมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เจ้าคณะจังหวัด แต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ฯ |
๒๙. | พระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาตรา ๓๗ ระบุหน้าที่เจ้าอาวาส ไว้กี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? |
ต/ |
ระบุไว้ ๔ อย่าง ฯ คือ ๑. บํารุงรักษาวัด จัดกิจการ และศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ๒. ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิต และคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพํานักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือ คําสั่งของมหาเถรสมาคม ๓. เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิต และคฤหัสถ์ ๔. ให้ความสะดวกตามสมควรในการบําเพ็ญกุศล ฯ |
๓๐. | ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่สถานที่เช่นไร ? |
ต/ |
ที่วัด ได้แก่ ที่ตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น ที่ธรณีสงฆ์ ได้แก่ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด ที่ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระศาสนาอันมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง ฯ |
๓๑. | กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อใด ? |
ต/ |
พ้นจากตำแหน่งเมื่อ ๑. มรณภาพ ๒. พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ๓. ลาออก ๔. สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก ๕. อยู่ครบวาระ ๒ ปี ฯ |