-
ศากยวงศ์สืบเชื้อสายมาจากใคร ? ที่ได้นามว่า ศากยะ เพราะเหตุไร ?
ตอบ ศากยวงศ์สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกกากราช ฯ
ที่ได้นามว่า ศากยะ เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑) เพราะได้ชื่อตามชนบทที่ตั้งเมือง
๒) เพราะมีความกล้าหาญ สามารถตั้งเมืองได้เอง ฯ
-
พระวาจาที่พระมหาบุรุษทรงเปล่งครั้งแรก เรียกว่าอะไร ? ความว่าอย่างไร ?
ตอบ เรียกว่า อาสภิวาจา ฯ
ความว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก (อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส) เราเป็นผู้เจริญแห่งโลก (เชฏฺโฐหมสฺมิโลกสฺส) เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก (เสฏฺโฐหมสฺมิโลกสฺส) ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย (อยมนฺติมา ชาติ) บัดนี้ภพใหม่มิได้มี
(นตฺถิทานิปุนพฺภโว)”
-
พระพุทธองค์ทรงยืนยันพระองค์เองว่า เป็นสัมมาสัมพุทธะ เพราะทรงอาศัยเหตุอะไร ?
ตอบ เพราะทรงอาศัยเหตุที่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่าง แจ่มแจ้งครบถ้วนทุกประการ จึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่า เป็นสัมมาสัมพุทธะ ฯ
-
สตานุสารีวิญญาณ คืออะไร ? เกิดขึ้นแก่พระมหาบุรุษ ความว่าอย่างไร ?
ตอบ สตานุสารีวิญญาณ คือ วิญญาณไปตามสติ ฯ
เกิดขึ้นแก่พระมหาบุรุษความว่า ทุกรกิริยานี้จักไม่เป็นทางเพื่อการตรัสรู้ แต่อานาปานสติปฐมฌาน จักเป็นทางเพื่อการตรัสรู้แน่ ฯ
-
พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานจาตุรงคมหาปธาน มีใจความว่าอย่างไร ? ที่ไหน ? และได้รับผลอย่างไร ?
ตอบ มีใจความว่า หากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วจักไม่ลุกขึ้น แม้เนื้อและเลือดจะแห้งเหือดไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตาม ฯ
ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฯ
ได้รับผลคือ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณสมดังพระหฤทัย ฯ
-
พระพุทธเจ้าหลังจากได้ตรัสรู้แล้ว ทรงเปล่งอุทานในยามสุดท้ายว่าอย่างไร ?
ตอบ ทรงเปล่งอุทานว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นพราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยกำจัดมืดให้สว่างฉะนั้น ฯ
-
ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี เกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะ ความว่าอย่างไร ? ในขณะนั้น ท่านเป็นพระอริยบุคคลชั้นไหน ?
ตอบ ความว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ
ในขณะเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน ฯ
-
พระพุทธองค์ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่ไหนเป็นแห่งแรก ? ทรงเห็นประโยชน์อะไร จึงทรงประดิษฐาน ณ ที่นั้น ?
ตอบ พระพุทธองค์ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่กรุงราชคฤห์ เป็นแห่งแรก ฯ
ทรงเห็นประโยชน์ว่า ทรงเห็นว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่บริบูรณ์มั่งคั่งและมีศาสดาเจ้าลัทธิมาก ถ้าได้โปรดคนเหล่านี้ให้เกิดความเลื่อมใสได้แล้ว การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะศาสดาเจ้าลัทธิต่าง ๆ นั้น
ล้วนมีคนนับถือมาก ด้วยเหตุนี้จึงทรงเลือกเมืองนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก ฯ
-
พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชฎิล ๓ พี่น้องพร้อมบริวารโดยบังเอิญหรือโดยตั้งพระหฤทัยไว้ก่อน ? มีหลักฐานสนับสนุนคำตอบนั้นอย่างไร ?
ตอบ โดยตั้งพระหฤทัยไว้ก่อน ฯ
มีหลกัฐานปรากฏว่า ในครั้งที่ทรงส่งพระสาวก ๖๐ องคแ์รกไปประกาศ พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ ทรงมีพระดำรัสว่า “แม้เราก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อจะแสดงธรรม” ฯ
-
ที่สุดโต่งอันบรรพชิตไม่ควรเสพคืออะไรบ้าง ? ที่สุดโต่งนั้น มีโทษอย่างไร ?
ตอบ ที่สุดโต่ง คือ ๑. กามสุขัลลิกานุโยค ๒. อัตตกิลมถานุโยค ฯ มีโทษดังนี้
กามสุขัลลิกานุโยค คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของคนอริยะ คือ ผู้บริสุทธิ์ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนเปล่า ให้เกิดทุกข์ แก่ผู้ประกอบ ไม่ทำผู้ประกอบให้เป็นอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ฯ
-
“ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออะไร” ใครเป็นผู้ถาม ใครเป็นผู้ตอบ ? และตอบว่าอย่างไร ?
ตอบ พระสารีบุตรเป็นผู้ถาม พระปุณณมันตานีบุตรเป็นผู้ตอบ ฯ
ตอบว่า เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความดับไม่มีเชื้อ ฯ
-
พระอัสสชิเถระแสดงธรรมโดยย่อแก่อุปติสสปริพาชก ความว่าอย่างไร ? และได้ผลอย่างไร ?
ตอบ มีใจความว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุของธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้ ฯ
อุปติสสปริพาชกได้ฟังแล้ว ได้ธรรมจักษุมีดวงตาเห็นธรรม ฯ
-
พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระสาวกองค์ใดว่า “ไม่ทำศรัทธาและโภคทรัพย์ของตระกูลให้เสีย” ? และทรงอุปมาเปรียบเทียบว่าอย่างไร ?
ตอบ ทรงสรรเสริญพระโมคคัลลานะ ฯ
ทรงอุปมาว่า “ประหนึ่งแมลงผึ้งอันเที่ยวไปในสวนดอกไม้ไม่ทำสีและกลิ่นของดอกไม้ให้ช้ำ ถือเอาแต่รสบินไป ฉะนั้น ” ฯ
-
“สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ๆ ไม่ชอบใจหมด” เป็นคำพูดของใคร ? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่าอย่างไร ?
ตอบ เป็นคำพูดของทีฆนขะ อัคคิเวสสนโคตร ฯ
ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้น ฯ
-
พระมหากัสสปะกับพระรัฐบาล ออกบวชเพราะมีความคิดเห็นต่างกันอย่างไร ?
ตอบ พระมหากัสสปะ ออกบวชเพราะคิดเห็นว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาป เพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี มีใจเบื่อหน่าย จึงสละสมบัติแล้วออกบวช
พระรัฐบาล ออกบวชเพราะมีความคิดเห็นตามธรรมุเทศ ๔ ข้อ ที่พระศาสดาทรงแสดงว่า
๑) โลกคือหมู่สัตว์ อันชราเป็นผู้นำ ๆ เข้าไปใกล้ไม่ยั่งยืน
๒) โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่จำเพาะตน
๓) โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ ตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
๔) โลกคือหมู่สัตว์พร่องอยู่เป็นนิตย์ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา ฯ
-
พระมหากัสสปเถระประพฤติธุดงควัตร เพราะเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไร ?
ตอบ เพราะเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ อย่าง คือ
๑. การอยู่เป็นสุขในบัดนี้ของตน
๒. เพื่ออนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลังจะได้เป็นทิฏฐานุคติแห่งคนผู้มาเกิดในภายหลัง เมื่อทราบว่า สาวกของพระพุทธเจ้าได้ประพฤติอย่างนี้เขาจะได้ประพฤติตาม ซึ่งเป็นทางอำนวยสุขแก่เขาเอง ฯ
-
พระพุทธโอวาท ๓ ข้อ ที่ทรงประธานแก่พระมหากัสสปะว่าอย่างไร ? จัดเข้าในการอุปสมบทวิธีใด ?
ตอบ พระโอวาท ๓ ข้อว่าดังนี้
๑) กัสสปะ ท่านพึงศึกษาว่าเราจักเข้าไปตั้งความละอายและความยำเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นปานกลาง อย่างแรงกล้า
๒) เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยโสตฟังธรรมั้น พิจารณาเนื้อความ
๓) เราจักไม่ละสติเป็นไปในกาย คือ พิจารณากายเป็นอารมณ์ ฯ
จัดเข้าในเอหิภิกขุอุปสมบทวิธี ฯ
-
พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระราธะว่า "สิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้นเสีย" มารในที่นี้หมายถึงอะไร ?
ตอบ มาร หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯ
-
พระภัททิยเถระ มักเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า "สุขหนอๆ" ดังนี้ เพราะเหตุไร ?
ตอบ เพราะเมื่อก่อนท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งในวังนอกวัง ทั้งในเมืองนอกเมือง จนตลอดทั่วอาณาเขต แม้มีคนคอยรักษาอย่างนี้แล้ว ยังต้องหวาดระแวงสะดุ้งกลัวอยู่เป็นนิตย์ ครั้นทรง
ออกบวชได้บรรลุอรหัตผลแล้ว แม้อยู่ในที่ไหนๆ ก็ไม่หวาดระแวง ไม่สะดุ้งกลัว ไม่ต้องขวนขวาย มีใจปลอดโปร่ง เป็นอิสระแก่ตน จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น ฯ
-
อาสยะ และ ปโยคะ ในสัตตูปการสัมปทา หมายถึงอะไร ?
ตอบ อาสยะ หมายถึง ความมีพระหฤทัยเยือกเย็นด้วยความกรุณา ปรารถนาคุณประโยชน์อยู่เป็นนิตย์ แม้ในบุคคลที่ทำผิดต่อพระองค์ มีพระเทวทัตเป็นต้น ก็ยังทรงกรุณา
ปโยคะ หมายถึง ความมีพระหฤทัยมิได้มุ่งหวังต่ออามิส เทศนาสั่งสอนสัตว์ด้วยข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯ
-
พระสารีบุตรปรินิพพานที่ไหน ? ท่านเลือกสถานที่นั้นเพราะเหตุไร ?
ตอบ พระสารีบุตรปรินิพพาน ที่นาลันทคาม แคว้นมคธ ฯ
เพราะตั้งใจจะโปรดนางสารีพราหมณีผู้เป็นมารดาของท่าน ให้พ้นจากมิจฉาทิฏฐิก่อนที่ท่านจะปรินิพพาน ฯ
-
ถูปารหบุคคล คือใคร ? มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ?
ตอบ ถูปารหบุคคล คือ บุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูปไว้ประดิษฐาน ฯ
มี ๔ ประเภท ฯ ได้แก่
๑) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒) พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓) พระอรหันตสาวก
๔) พระเจ้าจักรพรรดิราช ฯ
-
อายุสังขาราธิษฐานกับการปลงอายุสังขาร หมายถึงอะไร ? พระพุทธเจ้าทรงกระทำที่ไหน ?
ตอบ อายุสังขาราธิษฐาน หมายถึง การที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระหฤทัยว่า จักดำรง พระชนม์อยู่แสดงธรรมสั่งสอนมหาชน จนกว่าพุทธบริษัทจะตั้งมั่น และได้ประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายมั่นคงสำเร็จประโยชน์แก่มหาชน ฯ พระพุทธเจ้าทรงกระทำที่ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้สถานที่ตรัสรู้ ฯ
การปลงอายุสังขาร หมายถึง การที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดวันปรินิพพาน นับแต่วันเพ็ญเดือน ๓ ไปอีก ๓ เดือน ฯ พระพุทธเจ้าทรงกระทำที่ปาวาลเจดีย์ เมืองไพศาลี ฯ
-
อภิญญาเทสิตธรรม มีอะไรบ้าง ? ทรงแสดงแก่ใคร ? ที่ไหน ?
ตอบ อภิญญาเทสิตธรรม ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฯ
ทรงแสดงแก่ภิกษุสงฆ์ผู้อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี ฯ
ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ฯ
-
พระสาวกผู้ได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะหลายอย่างกว่าสาวกรูปอื่นคือใคร ? เป็นเอตทัคคะในทางใดบ้าง ?
ตอบ คือ พระอานนท์ ฯ
เอตทัคคะในทางดังนี้
๑) เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูต
คือ การได้ยินมากได้ฟังมาก
๒) เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีคติ
คือ เป็นผู้รู้จักหลักการในการเรียนรู้
๓) เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีสติ
คือ มีความจำเป็นเลิศ
๔) เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีธิติ
คือ เป็นผู้มีความมั่นคง มีความเพียรในการเรียน
๕) เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นอุปัฏฐาก ฯ
-
ภิกษุณีผู้มีชื่อต่อไปนี้ได้รับเอตทัคคะในทางไหน ?
ก. พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
ข. พระเขมาเถรี
ค. พระอุบลวัณณาเถรี
ง. พระปฏาจาราเถรี
จ. พระธัมมทินนาเถรี
ตอบ ก. พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ได้รับเอตทัคคะในทางรัตตัญญู
ข. พระเขมาเถรี ได้รับเอตทัคคะในทางมีปัญญา
ค. พระอุบลวัณณาเถรี ได้รับเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์
ง. พระปฏาจาราเถรี ได้รับเอตทัคคะในทางทรงวินัย
จ. พระธัมมทินนาเถรี ได้รับเอตทัคคะในทางธรรมกถึก ฯ
-
ในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระพุทธสรีระส่วนใดยังคงเหลืออยู่ ?
ตอบ พระอัฐิ พระเกสา พระโลมา พระนขา พระทันตา เหลืออยู่ นอกนั้นถูกเพลิงไหม้หมดสิ้น ฯ
-
สุภัททวุฑฒบรรพชิต กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยว่าอย่างไร ? และทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรในกาลต่อมา ?
ตอบ ว่า “เราทั้งหลายพ้นดีแล้วจากพระสมณะนั้น บัดนี้ เราพอใจจะทำสิ่งใดก็ทำ หรือ มิพอใจทำสิ่งใดก็ไม่ต้องทำ” ฯ
เป็นเหตุให้เกิดสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๑ ฯ
-
พระมหากัสสปะเถระชักชวนภิกษุทั้งหลายให้ทำสังคายนาครั้งแรก เพราะปรารภเหตุอะไร ?
ตอบ เพราะปรารภเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. ระลึกถึงคำของสุภัททวุฑฒบรรพชิตกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย
๒. ระลึกถึงอุปการคุณของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่แก่ตน ฯ
-
พุทธเจดีย์มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ? พระพุทธรูป สงเคราะห์เข้าในเจดีย์ประเภทใด ?
ตอบ พุทธเจดีย์ มี ๔ ประเภท ฯ
คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และ อุทเทสิกเจดีย์ ฯ
พระพุทธรูปสงเคราะห์เข้าในอุทเทสิกเจดีย์ ฯ