เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก วิชาธรรมวิจารณ์ ปีพ.ศ.๒๕๖๖

เก็งข้อสอบวิชาธรรมวิจารณ์ นักธรรมชั้นเอก พ.ศ.๒๕๖๖



  1. บุคคลเช่นไรชื่อว่าติดอยู่ในโลก ? ผู้ติดอยู่ในโลกจะได้รับผลอย่างไร ?
    ตอบ บุคคลผู้ไร้พิจารณา ไม่หยั่งเห็นโดยถ่องแท้ เพลิดเพลินในสิ่งอันให้โทษ หลงระเริงจนเกินพอดีในสิ่งอันอาจให้โทษ ติดในสิ่งอันเป็นอุปการะ ชื่อว่า ติดอยู่ในโลก ฯ
    ผู้ติดอยู่ในโลก ย่อมได้เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง อันสิ่งนั้นๆ พึงอำนวย แม้สุขก็เป็นเพียงสามิส คือ มีเหยื่อเจือด้วยของล่อใจ เป็นเหตุแห่งความติด ดุจเหยื่อคือมังสะอันเบ็ดเกี่ยวไว้ ฯ
  2. บทอุทเทสว่า "สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้" พระศาสดาตรัสชวนให้มาดูโลก โดยมีพระประสงค์อย่างไร ?
    ตอบ ทรงมีพระประสงค์จะทรงปลุกใจพวกเรา ให้หยั่งเห็นซึ้งลงไปถึงคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์แห่งสิ่งนั้นๆ อันคุมเข้าเป็นโลกจะได้ไม่ตื่นเต้น ไม่ติดในสิ่งนั้นๆ รู้จักละสิ่งที่เป็นโทษ ไม่ข้องติดอยู่ในสิ่งที่เป็นคุณ ฯ
  3. คำว่า มารและบ่วงแห่งมารได้แก่อะไร ? เพราะเหตุไรจึงชื่ออย่างนั้น ?
    ตอบ คำว่า มาร ได้แก่ กิเลสกาม อันทำจิตให้เศร้าหมอง ได้แก่ ตัณหาราคะและอรติ เป็นต้น ชื่ออย่างนั้น เพราะเป็นโทษล้างผลาญคุณความดีและทำให้เสียคน ฯ
    คำว่า บ่วงแห่งมาร ได้แก่ วัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันเป็นของน่าชอบใจ ชื่ออย่างนั้น เพราะเป็นอารมณ์เครื่องผูกใจให้ติด ฯ
  4. ทุกขลักขณะ และ ทุกขานุปัสสนา เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน ? จงอธิบาย
    ตอบ ต่างกันคือ
    ทุกขลักขณะ ได้แก่ ลักษณะที่เป็นทุกข์แห่งสังขาร เพราะถูกบีบคั้นจากปัจจัยต่าง ๆ
    ทุกขานุปัสสนา ได้แก่ ปัญญาพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นทุกข์ ฯ
  5. ทุกข์ประจำสังขาร กับ ทุกข์จร ต่างกันอย่างไร ?
    ตอบ ทุกข์ประจำสังขาร เป็นทุกข์ที่ต้องมีแก่คนทุกคน ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงพ้น ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ฯ
    ทุกข์จร เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวได้แก่ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ประสบด้วยคนหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก พรากจากคนหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาไม่ได้สมหวัง ฯ
  6. ความเป็นอนัตตาแห่งสังขาร พึงกำหนดรู้ด้วยอาการอย่างไรบ้าง ?
    ตอบ ด้วยอาการดังนี้ คือ
    ๑. ไม่อยู่ในอำนาจ หรือฝืนความปรารถนา
    ๒. แย้งต่ออัตตา
    ๓. ความเป็นสภาพหาเจ้าของมิได้
    ๔. ความเป็นสภาพสูญ ฯ
  7. ไวพจน์แห่งวิราคะว่า มทนิมฺมทโน ธรรมยังความเมาให้สร่าง ความเมาในที่นี้ หมายถึง ความเมาในอะไร ?
    ตอบ ความเมา หมายถึง ความเมาในอารมณ์อันยั่วยวนให้เกิดความเมาทุกประการ เช่น ความถึงพร้อมแห่งชาติ สกุล อิสริยะ และบริวาร หรือลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือ ความเยาว์วัย ความหาโรคมิได้ และชีวิต ฯ
  8. คำว่า “วฏฺฏูปจฺเฉโท ธรรมเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ” มีอธิบายว่าอย่างไร ? และตัดขาดได้อย่างไร ?
    ตอบ มีอธิบายว่า วัฏฏะ หมายถึง ความเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจกิเลส กรรม และ วิบาก วิราคะเข้าไปตัดความเวียนว่ายตายเกิดนั้น จึงเรียกว่า วฏฺฏูปจฺเฉโท ธรรมเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ ฯ
    ตัดขาดได้โดยการละกิเลสอันเป็นเบื้องต้นเสีย ฯ
  9. ความหลุดพ้นอย่างไรเป็นสมุจเฉทวิมุตติ ? จัดเป็นโลกิยะ หรือ โลกุตตระ ?
    ตอบ ความหลุดพ้น ด้วยการตัดกิเลสได้เด็ดขาด ได้แก่อริยมรรค ฯ
    จัดเป็นโลกุตตระ ฯ
  10. ในวิมุตติ ๕ วิมุตติใดจัดเข้าใน อริยมรรค อริยผล นิพพาน ?
    ตอบ สมุจเฉทวิมุตติ จัดเข้าในอริยมรรค
    ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ จัดเข้าในอริยผล
    นิสสรณวิมุตติ จัดเข้าในนิพพาน ฯ
  11. วิมุตติ ๕ อย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหนเป็นโลกุตตระ ?
    ตอบ ตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ เป็นโลกิยะ
    สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ นิสสรณวิมุตติ เป็นโลกุตตระ ฯ
  12. วิสุทธิ ๗ แต่ละอย่าง ๆ จัดเข้าในไตรสิกขาได้อย่างไร ?
    ตอบ สีลวิสุทธิ จัดเข้าใน สีลสิกขา
    จิตตวิสุทธิ จัดเข้าใน จิตตสิกขา
    ทิฏฐิวิสุทธิ, กังขาวิตรณวิสุทธิ, มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ, ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ, ญาณทัสสนวิสุทธิ จัดเข้าในปัญญาสิกขา ฯ
  13. จงจัดมรรค ๘ เข้าใน วิสุทธิ ๗ มาดู
    ตอบ สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ จัดเข้าใน สีลวิสุทธิ
    สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ จัดเข้าใน จิตตวิสุทธิ
    สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, จัดเข้าใน ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิ ฯ
  14. ธรรมอะไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นยอดแห่งสังขตธรรม ? เพราะเหตุไร ?
    ตอบ ธรรมชื่อว่า อัฏฐังคิกมรรค เป็นยอดแห่งสังขตธรรม ฯ
    เพราะองค์ ๘ แต่ละองค์ ๆ ของอัฏฐังคิกมรรค ก็เป็นธรรมดี ๆ รวมกันเข้าทั้ง ๘ ย่อมเป็นธรรมดียิ่งนัก และเป็นทางเดียวนำไปถึงความดับทุกข์ หรือถึงความหมดจดแห่งทัสสนะ ฯ
  15. สันติ ความสงบ เป็นโลกิยะหรือโลกุตตระ ? จงตอบโดยอ้างพระบาลีมาประกอบ
    ตอบ สันติ เป็นได้ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ ฯ
    ที่เป็นโลกิยะ ได้ในบาลีว่า น หิ รุณฺเณน โสเกน สนฺตึ ปปฺโปติ เจตโส แปลว่า บุคคลย่อมถึงความสงบแห่งจิต ด้วยร้องไห้ด้วยเศร้าโศกก็หาไม่
    ที่เป็นโลกุตตระ ได้ในบาลีว่า โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข แปลว่า ผู้เพ่งสันติพึงละโลกามิสเสีย ฯ
  16. สันติ ความสงบ หมายถึงสงบอะไร ? ผู้มุ่งสันติสุขอย่างแท้จริง ท่านสอนให้ละอะไร ?
    ตอบ สันติ หมายถึง สงบกาย วาจา ใจ ฯ
    ผู้มุ่งสันติสุขอย่างแท้จริง ท่านสอนให้ละโลกามิส คือรูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ ฯ
  17. สอุปาทิเสสนิพพาน กับอนุปาทิเสสนิพพาน ต่างกันอย่างไร ?
    ตอบ ต่างกัน คือ
    สอุปาทิเสสนิพพาน เป็นความดับกิเลสที่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ
    อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นความดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ฯ
  18. ข้อความว่า ปลงภาระอันหนักเสียแล้ว ไม่ถือเอาภาระอันอื่น ดังนี้ มีอธิบายอย่างไร ?
    ตอบ ภาระ หมายเอา เบญจขันธ์
    การปลงภาระ หมายเอาการถอนอุปาทาน
    การไม่ถือเอาภาระอื่น หมายเอาการไม่ถือเบญจขันธ์อื่นด้วยอุปาทาน ฯ
  19. พระบาลีว่า สิญฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ แปลว่า ภิกษุเธอจงวิดเรือนี้ คำว่า เรือ และคำว่า วิด ในที่นี้หมายถึงอะไร ?
    ตอบ คำว่า เรือ หมายถึง อัตภาพร่างกาย
    คำว่า วิด หมายถึง บรรเทากิเลสและบาปธรรมเสีย ให้บางเบาจนขจัดได้ขาด ฯ
  20. คติ คืออะไร ? สัตว์โลกตายแล้วมีคติเป็นอย่างไรบ้าง ?
    ตอบ คติ คือ ภูมิหรือภพเป็นที่ไปหลังจากตายไปแล้ว ฯ
    มีคติเป็น ๒ คือ
    ๑. ทุคติ ภูมิเป็นที่ไปข้างชั่ว ซึ่งเกิดจากการประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ
    ๒. สุคติ ภูมิเป็นที่ไปข้างดี ซึ่งเกิดจากการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ ฯ
  21. สมถกัมมัฏฐาน กับวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต่างกันอย่างไร ? หัวใจสมถกัมมัฏฐานมีอะไรบ้าง ?
    ตอบ ต่างกันอย่างนี้ คือ
    สมถกัมมัฏฐาน คือกัมมัฏฐานเป็นอุบายเครื่องสงบใจ
    วิปัสสนากัมมัฏฐาน คือกัมมัฏฐานเป็นอุบายเครื่องเรืองปัญญา ฯ
    หัวใจสมถกัมมัฏฐาน มี ๑) กายาคตาสติ ๒) เมตตา ๓) พุทธานุสสติ ๔) กสิณ และ ๕) จตุธาตุววัตถาน ฯ
  22. จงแสดงวิธีเจริญมุทิตา พร้อมทั้งอานิสงส์แห่งการเจริญ พอเป็นตัวอย่าง ?
    ตอบ วิธีเจริญมุทิตา ดังนี้เมื่อได้เห็นหรือได้ยินมนุษย์หรือสัตว์เป็นอยู่สุขสบายเจริญรุ่งเรืองด้วยสุขสมบัติ พึงทำจิตใจให้ชื่นชมยินดีแล้วแผ่มุทิตาจิตไปว่า สัตว์ผู้นี้หนอบริบูรณ์ยิ่งนัก มีสุขสมบัติมาก จงเจริญยั่งยืนด้วยสุขสมบัติยิ่ง ๆ เถิด เมื่อเจริญอยู่เนือง ๆ ย่อมได้รับผลดี คือจะละความริษยาในสมบัติของผู้อื่นได้ ฯ
  23. อารมณ์ของสติปัฏฐานมีอะไรบ้าง ? ภิกษุผู้เจริญสติปัฏฐาน พึงมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ?
    ตอบ อารมณ์ของสติปัฏฐาน มี กาย เวทนา จิต ธรรม ฯ
    ภิกษุผู้เจริญสติปัฏฐานพึงมีคุณสมบัติ ๓ อย่าง ได้แก่
    ๑) อาตาปี มีความเพียรเผากิเลส
    ๒) สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ
    ๓) สติมา มีสติ ฯ
  24. เจริญมรณัสสติอย่างไรจึงแยบคาย บรรเทาความเมาในชีวิต ไม่ติดในโลกธรรม ?
    ตอบ เจริญพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ
    ๑. สติ ระลึกถึงความตาย
    ๒. ญาณ รู้ว่าความตายจักมีแก่ตน
    ๓. เกิดสังเวชสลดใจ ฯ
  25. บรรดาอาการ ๓๒ ประการนั้น ส่วนที่เป็นอาโปธาตุมีอะไรบ้าง ?
    ตอบ ส่วนที่เป็นอาโปธาตุ ได้แก่ ดี เสมหะ น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ฯ
  26. คนสัทธาจริตมีนิสัยอย่างไร ? คนประเภทนี้ควรเจริญ กัมมัฏฐานบทใด ?
    ตอบ คนสัทธาจริต มีนิสัยเชื่อง่ายในถ้อยคำวาจาที่กล่าวดี และชั่ว ที่เป็นบุญและเป็นบาป เป็นต้น ฯ
    คนประเภทนี้ควรเจริญ อนุสสติกัมมัฏฐาน ๖ ประการ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และ เทวตานุสสติ ฯ
  27. ในพระพุทธคุณ ๙ ประการนั้น ส่วนไหนเป็นเหตุ ส่วนไหนเป็นผล ? เพราะเหตุไร ?
    ตอบ พระพุทธคุณ ส่วนอัตตสมบัติ เป็นเหตุ, พระพุทธคุณ ส่วนปรหิตปฏิบัติ เป็นผล ฯ
    เพราะทรงบริบูรณ์ด้วยพระพุทธคุณส่วนอัตตสมบัติก่อน แล้วจึงทรงบำเพ็ญพุทธกิจให้สำเร็จประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ ฯ
  28. สมถะ กับ วิปัสสนา ให้ผลต่างกันอย่างไร ?
    ตอบ ให้ผลต่างกันดังนี้
    สมถะ ให้ผลอย่างต่ำทำให้ระงับนิวรณ์ได้ อย่างสูงทำให้เข้าถึงฌานต่างๆ ได้
    ส่วนวิปัสสนา ให้ผลอย่างต่ำทำให้ได้ปัญญาเห็นสัจจธรรม อย่างสูงทำให้ได้บรรลุอริยผลพ้นจากสังสารทุกข์ ฯ
  29. สติปัฏฐาน ๔ อันผู้ปฏิบัติธรรมอบรมให้บริบูรณ์เต็มที่แล้วย่อมเป็นเพื่ออานิสงส์ ๕ ประการ อะไรบ้าง ?
    ตอบ เพื่ออานิสงส์ ๕ ประการ ได้แก่
    ๑. เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย
    ๒. เพื่อความข้ามพ้นโสกะปริเทวะทั้งหลาย
    ๓. เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส
    ๔. เพื่อความบรรลุธรรมที่ควรรู้
    ๕. เพื่อความทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ฯ
  30. พระพุทธองค์ทรงแสดงคิริมานนทสูตรที่ไหน ? แก่ใคร ? ว่าด้วยเรื่องอะไร ?
    ตอบ พระพุทธองค์ทรงแสดงคิริมานนทสูตรที่ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ฯ
    ทรงแสดงแก่ พระอานนท์ ฯ
    ว่าด้วยเรื่อง สัญญา ๑๐ ฯ


แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า
ADVERTISMENT