เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก - วิชาพุทธะ [พระเณร]
ดาวน์โหลด หรือเปิดอ่านแบบ PDF
๑. | พุทธานุพุทธประวัติ ให้ความรู้แก่ผู้ศึกษาทางใดบ้าง ? จงอธิบายพอได้ใจความ ๑. ทางประวัติศาสตร์ เช่น ความเป็นไปของบ้านเมืองในครั้งพุทธกาลและลัทธิธรรมเนียมของประชาชนในสมัยนั้น ๒. ทางจรรยาของพระพุทธเจ้า และจรรยาของเหล่าพระอริยสาวก ๓. ทางธรรมวินัยที่ปรากฎในตำนาน และความเป็นมาแห่งศาสนธรรมพร้อมทั้งตัวอย่างการบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ฯ |
๒. | ในวันที่พระมหาบุรุษประสูติ มีสหชาติที่เกิดพร้อมกันกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? มี ๗ อย่าง คือ ๑.พระนางพิมพา ๒.พระอานนท์ ๓.กาฬุทายีอำมาตย์ ๔.ฉันนะอำมาตย์ ๕.ม้ากัณฐกะ ๖.ต้นมหาโพธิ์ ๗.ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ ฯ |
๓. | พระวาจาที่พระมหาบุรุษทรงเปล่งครั้งแรก เรียกว่าอะไร ? มีใจความว่าอย่างไร ? เรียกว่า อาสภิวาจา ฯ มีใจความว่า "เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีแก่เรา" ฯ |
๔. | มหาปุริสลักษณะมีกี่ประการ ? พระอุณณาโลมกับพระอุณหิสต่างกันอย่างไร ? มี ๓๒ ประการ ฯ พระอุณณาโลม ได้แก่ พระโลมา (ขน) ที่ขาวละเอียดอ่อนคล้ายสำลี อยู่ในระหว่างพระโขนง (คิ้ว) ส่วนพระอุณหิส (กรอบหน้า) นั้น ได้แก่พระเศียร (หัว) ที่กลมเป็นปริมณฑลดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ (หน้า) ฯ |
๕. | ศากยวงศ์สืบเชื้อสายมาจากใคร ? ที่ได้นามว่า ศากยะ เพราะเหตุไร ? สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกกากราช ฯ ที่ได้นามว่า ศากยะ เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ ๑. เพราะได้ชื่อตามชนบทที่ตั้ง ๒. เพราะมีความกล้าหาญ สามารถตั้งเมืองได้เอง ฯ |
๑. | สตานุสารีวิญญาณ คืออะไร ? เกิดขึ้นแก่มหาบุรุษ ความว่าอย่างไร ? คือ วิญญาณไปตามสติ ฯ ความว่า ทุกรกิริยานี้ จักไม่เป็นทางเพื่อการตรัสรู้ แต่อานาปานสติปฐมฌาน จักเป็นทางเพื่อการตรัสรู้แน่ ฯ |
๒. | พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานจาตุรงคมหาปธาน มีใจความว่าอย่างไร ? ที่ไหน ? และได้รับผลอย่างไร ? มีใจความว่า หากยังไม่บรรลุไม่สัมมาสัมโพธิญาณแล้วจักไม่ลุกขึ้น แม้เนื้อและเลือดจะแห้งเหือดไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตาม ฯ ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฯ ได้รับผลคือ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณสมดังพระหฤทัย ฯ |
๓. | พระพุทธเจ้าหลังจากได้ตรัสรู้แล้ว ทรงเปล่งอุทานในยามสุดท้ายว่าอย่างไร ? ทรงเปล่งอุทานว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นพราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยกำจัดมืดให้สว่างฉะนั้น ฯ |
๔. | ที่สุดโต่งอันบรรพชิตไม่ควรเสพคืออะไรบ้าง ? ที่สุดโต่งนั้นมีโทษอย่างไร ? ที่สุดโต่งคือ ๑.กามสุขัลลิกานุโยค ๒.อัตตกิลมถานุโยค ฯ มีโทษอย่างดังนี้ กามสุขัลลิกายุโยค คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของคนอริยะคือผู้บริสุทธิ์ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนเปล่า ให้เกิดทุกข์แก่ผู้ประกอบ ไม่ทำผู้ประกอบให้เป็นอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโชน์ ฯ |
๕. | พระมหาบุรุษทรงทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายแล้ว ทรงบรรเทาความเมาในอะไรได้ ฯ ทรงบรรเทาความเมาในวัย ความเมาในความไม่มีโรค และความเมาในชีวิต ฯ |
๑. | ขณะเสวยวิมุตติสุขใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาธรรมอะไร ? และธรรมนั้นมีใจความย่อว่าอย่างไร ? ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ฯ มีใจความย่อว่า สภาวะอย่างหนึ่งเป็นผลเกิดแต่เหตุอย่างหนึ่งแล้ว ซ้ำเป็นเหตุยังผลอย่างอื่นให้เกิดต่อไปอีก เหมือนลูกโซ่เกี่ยวคล้องกันเป็นสาย ฯ |
๒. | พระพุทธเจ้าทรงปฏิญาณว่า เป็นสัมมาสัมพุทธะ เพราะทรงอาศัยเหตุอะไร ? ทรงอาศัยเหตุที่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างแจ่มแจ้งครบถ้วนทุกประการ จึงทรงปฏิญาณว่า เป็นสัมมาสัมพุทธะ ฯ |
๓. | อนิมิสเจดีย์และรัตนจงกรมเจดีย์ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำกิจอะไร ? อนิมิสเจดีย์ เป็นสภาพที่ที่พระพุทธเจ้าประทับยืนจ้องดูต้นพระมหาโพธิ์โดยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน รัตนจงกรมเจดีย์ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้นแล้วเสด็จจงกรม ณ ที่นั้นถ้วน ๗ วัน ฯ |
๔. | ขณะที่ทรงเสวยวิมุตติสุข ณ รัตนฆรเจดีย์ ทรงพิจารณาธรรมอะไร ? ทรงพิจารณาพระอภิธรรม ฯ |
๕. | ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร ? ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ที่ทรงกำหนดรู้แล้วนั้นอย่างไร ? ณ สถานที่ใด ? ปฏิจจสมุปบาท คือ สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ฯ ทรงพิจารณาตามลำดับและถอยกลับทั้งข้างเกิดข้างดับตลอดยาม ๓ แห่งราตรี ฯ ณ ภายใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ ฯ |
๖. | ดวงตาเห็นธรรมเกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะ ความว่าอย่างไร ? ในขณะนั้นท่านเป็นพระอริยบุคคลชั้นไหน ? ความว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ เป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน ฯ |
๗. | ภัพพบุคคลและอภัพพบุคคล ที่ท่านเปรียบกับดอกบัว ๔ เหล่า คือบุคคลประเภทใดบ้าง ? ภัพพบุคคล คือ บุคคลผู้สามารถจะตรัสรู้ธรรมได้ ได้แก่ อุคฆติตัญญูที่เปรียบด้วยดอกบัวพ้นน้ำ วิปจิตัญญูที่เปรียบด้วยดอกบัวเสมอน้ำ และเนยยะที่เปรียบด้วยดอกบัวที่ยังอยู่ในน้ำ ส่วนอภัพพบุคคล คือบุคคลผู้ไม่สามารถจะตรัสรู้ธรรมได้ ได้แก่ ปทปรมะที่เปรียบด้วยดอกบัวที่เป็นภักษาหารแห่งปลาและเต่า ฯ |
๘. | พุทธจักษุ กับธรรมจักษุ ต่างกันอย่างไร ? แต่ละอย่างใครได้เป็นคนแรก ? พุทธจักษุ คือจักษุของพระพุทธเจ้า หมายถึงพระปัญญาของพระพุทธองค์ที่ทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ ส่วนธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรม ได้แก่ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค ที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟังธรรม ฯ พุทธจักษุเป็นคุณสมบัติเฉพาะของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงได้เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียว ส่วนธรรมจักษุพระอัญญาโกณฑัญญะได้เป็นองค์แรก ฯ |
๑. | อนุปุพพีกถาและสามุกกังสิกธรรม คืออะไร ? ทรงแสดงแก่บุคคลผู้มีองคสมบัติอะไร ? อนุปุพพีกถา คือ ถ้อยคำที่กล่าวเรียงเรื่องเป็นลำดับไป คือ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา เนกขัมมานิสังสกถา สามุกกังสิกธรรม คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง ได้แก่อริยสัจ ๔ ฯ ผู้มีองคสมบัติ คือ ๑.เป็นมนุษย์ ๒.เป็นคฤหัสถ์ ๓.มีอุปนิสัยแก่กล้า ควรบรรลุโลกุตรคุณในที่นั้น ฯ |
๒. | ปฐมสาวกกับปัจฉิมสาวก คือใคร ? ได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งว่าด้วยเรื่องอะไร ? ปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องที่สุด ๒ อย่าง และมัชฌิมาปฏิปทา ฯ ปัจจฉิมสาวก คือ สุภัททปริพาชก ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องพระอริยบุคคลทั้ง ๔ ประเภท มีอยู่เฉพาะในธรรมวินัยที่มีมรรคมีองค์ ๘ ฯ |
๓. | ยสกุลบุตรฟังธรรมอะไรจากพระพุทธองค์ จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ? จงบอกมาตามลำดับตั้งแต่ต้น ? ฟังอนุปุพพีกถาและอริยสัจ๔ ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ บรรลุเป็นพระโสดาบัน ครั้งที่ ๒ บรรลุเป็นพระอรหันต์ ? |
๔. | อนัตตลักขณสูตร และอาทิตตปริยายสูตร มีใจความย่อว่าอย่างไร ? อนัตตลักขณสูตร มีใจความโดยย่อว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งรวมเรียกว่า ขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน ฯ อาทิตตปริยายสูตร มีใจความโดยย่อว่า อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณสัมผัส และเวทนาที่เกิดแต่สัมผัส เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ และร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ร่ำไรรำพัน เจ็บกาย เสียใจ คับใจ ฯ |
๑. | พระพุทธองค์ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่ไหนเป็นแห่งแรก ? ทรงเห็นประโยชน์อะไร ? ที่กรุงราชคฤห์ ฯ เพราะทรงเห็นว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่บริบูรณ์มั่งคั่ง และมีศาสดาเจ้าลัทธิมาก ถ้าได้โปรดคนเหล่านี้ให้เกิดความเลื่อมใสได้แล้ว การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะศาสดาเจ้าลัทธิต่างๆ นั้นล้วนมีคนนับถือมาก ด้วยเหตุนี้จึงทรงเลือกเมืองนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก ฯ |
๒. | พระอรหันตสาวก ๑๐ องค์แรกคือใครบ้าง ? มีท่านใดได้รับเอตทัคคะบ้าง ? เป็นเอตทัคคะในทางไหน ? คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ พระยสะ พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ และพระควัมปติ ฯ มีพระอัญญาโกณฑัญญะรูปเดียว ฯ ในทางรัตตัญญู ผู้รู้ราตรีนาน ฯ |
๓. | พระเจ้าพิมพิสาร ตั้งความปรารถนาไว้อย่างไรบ้าง ? ได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ๑. ขอให้ข้าพระเจ้าได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นมคธนี้เถิด ๒. ขอให้ท่านผู้เป็นพระอรหันต์ผู้รู้เองโดยชอบ พึงมายังแว่นแคว้นของข้าพระเจ้าผู้ได้รับอภิเษกแล้ว ๓. ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์นั้น ๔. ขอพระอรหันต์นั้น พึงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า ๕. ขอข้าพเจ้าพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระอรหันต์นั้น ฯ |
๔. | พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทด้วยอาการ ๔ อย่าง อะไรบ้าง ? ด้วยอาการดังนี้ ฯ ๑. สันทัสสนา อธิบายให้แจ่มแจ้งให้เข้าใจชัด ๒. สมาทาปนา ชวนให้มีแก่ใจสมาทานคือทำตาม ๓. สมุตเตชนา ชักนำให้เกิดอุตสาหะอาจหาญเพื่อจะทำ ๔. สัมปหังสนา พยุงให้ร่าเริงในอันทำ ฯ |
๑. | พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอัครสาวกทั้ง ๒ ว่าเป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์สพรหมจารีทั้งหลาย มีอุปมาต่างกันอย่างไร ? มีอุปมาต่างกันอย่างนี้ พระสารีบุตรเถระเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้บุตรเกิด ย่อมแนะนำให้กุลบุตรตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะเถระเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกผู้เกิดแล้วนั้น ย่อมแนะนำให้กุลบุตรตั้งอยู่ในคุณเบื้องสูงกว่านั้น ฯ |
๒. | ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออะไร ใครเป็นผู้ถาม ใครเป็นผู้ตอบ ? ตอบว่าอย่างไร ? พระสารีบุตรเป็นผู้ถาม พระปุณณมันตานีบุตรเป็นผู้ตอบ ฯ ตอบว่า เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความดับไม่มีเชื้อ ฯ |
๓. | พระอัสสชิเถระแสดงธรรมโดยย่อแก่อุปติสสปริพาชก ความว่าอย่างไร ? และได้ผลอย่างไร ? มีความว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุของธรรมนั้นและความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้ ฯ ได้ผลคือ อุปติสสปริพาชกฟังแล้ว ได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม ฯ |
๔. | คำว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด" เป็นคำพูดของใคร ? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่าอย่างไร ? เป็นคำพูดของ ทีฆนขะ อัคคิเวสสนโคตร ฯ พระองค์ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้น ฯ |
๕. | พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระสาวกองค์ใดว่า “ไม่ทำศรัทธาและโภคทรัพย์ของตระกูลให้เสีย” และทรงอุปมาเปรียบเทียบว่าอย่างไร ? ทรงสรรเสริญพระโมคคัลลานะ ฯ ทรงอุปมาเปรียบเทียบว่า “ประหนึ่งแมลงผึ้งอันเที่ยวไปในสวนดอกไม้ ไม่ทำสีและกลิ่นของดอกไม้ให้ช้ำ ถือเอาแต่รสบินไป ฉะนั้น” |
๖. | การที่พระสารีบุตรมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้กตัญญูกตเวทีนั้น มีหลักฐานอะไรเป็นตัวอย่างจงแสดงมาสัก ๒ เรื่อง ? เรื่องที่ ๑ ท่านได้ฟังคำสอนจากพระอัสสชิโดยย่อจนได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อทราบว่า พระอัสสชิอยู่ทางทิศใด เวลาจะนอนก็หันศรีษะไปทางทิศนั้นด้วยความเคารพ ฯ เรื่องที่ ๒ ท่านระลึกถึงอุปการะที่รับบิณฑบาตจากราธพราหมณ์เพียง ๑ ทัพพี จึงรับเป็นภาระในการจัดการอุปสมบทตามความประสงค์ ฯ |
๗. | พระมหากัสสปเถระประพฤติธุดงควัตรเพราะเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไร ? เพราะเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ อย่าง คือ ๑. การอยู่เป็นสุขในบัดนี้ของตน ๒. เพื่ออนุเคาระห์ประชุมชนในภายหลัง จะได้เป็นทิฏฐานุคติแห่งคนผู้มาเกิดในภายหลัง เมื่อทราบว่า สาวกของพระพุทธเจ้าได้ประโชน์อย่างนี้ เขาจะได้ประพฤติตามซึ่งเป็นทางอำนวยสุขแก่เขาเอง ฯ |
๘. | พระมหากัสสปะ ออกบวชเพราะมีความเห็นอย่างไร ? เพราะคิดเห็นว่า ผู้อยู่ครองเรือนตั้งคอยนั่งรับบาป เพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี มีใจเบื่อหน่าย จึงละสมบัติแล้วออกบวช ฯ |
๙. | พระพุทธโอวาท ๓ ข้อ ที่ทรงประธานแก่พระมหากัสสปะว่าอย่างไร ? จัดเข้าในการอุปสมบทวิธีใด ? พระโอวาท ๓ ข้อว่าดังนี้ ๑. เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความยำเกรงอย่างแรงกล้าไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นเถระปานกลาง และผู้ใหม่อย่างแรงกล้า ๒. เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรม อันประกอบด้วยกุศล และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้น ๓. เราจักไม่ละสติที่ไปในกาย คือพิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ ฯ จัดเข้าในเอหิภิกขุอุปสมบทวิธี ฯ |
๑๐. | พระรัฐบาล ออกบวชเพราะมีความคิดเห็นอย่างไร ? พระรัฐบาล ออกบวชเพราะมีความคิดเห็นตามธรรมุเทศ ๔ ข้อที่พระศาสดาทรงแสดงว่า ๑. โลกคือหมู่สัตว์ อันชราเป็นผู้นำเข้าไปใกล้ ไม่หยั่งยืน ๒. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่จำเพราะตน ๓. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของๆ ตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป ๔. โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ฯ |
๑๑. | อนาถบิณฑิกเศรษฐี มีนามเดิมว่าอะไร ? ได้บรรลุคุณวิเศษอะไรในพระพุทธศาสนา ? ที่ไหน ? มีนามเดิมว่า สุทัตตะ ฯ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ฯ ที่เมืองราชคฤห์ ฯ |
๑. | ปัญหาว่า "โลกคือหมู่สัตว์ อันอะไรปิดบังไว้ จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด" ดังนี้ใครเป็นผู้ถาม ? ได้รับคำพยากรณ์ว่าอย่างไร ? อชิตมาณพเป็นผู้ถาม ฯ ได้รับการพยากรณ์ว่า โลกคือหมู่สัตว์ อันอวิชชาคือความไม่รู้แจ้งปิดบังไว้ จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด ฯ |
๑. | การอุปสมบทสำหรับพระภิกษุในครั้งพุทธกาล มีทั้งหมดกี่วิธี ? อะไรบ้าง ? ในปัจจุบันใช้วิธีไหน ? มี ๓ วิธี ฯ คือ ๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา ๒. ติสรณคมนูปสัมปทา ๓. ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ฯ ปัจจุบันใช้ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ฯ |
๒. | การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา พระสาวกผู้เป็นอุปัชฌายะ และเป็นสัทธิวิหารริกรูปแรก คือใคร ? พระสารีบุตร เป็นอุปัชฌายะรูปแรก ฯ พระราธะ เป็นสัทธิวิหาริกรูปแรก ฯ |
๓. | พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระราธะว่า “สิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้นเสีย” มารในที่นี้หมายถึงอะไร ? มาร ในที่นี้หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯ |
๑. | อนุรุทธศากยะออกบวชเพราะมูลเหตุอะไร ? เพราะมูลเหตุจากการที่อนุรุทธศากยะเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งควรออกบวชตามพระพุทธเจ้าอย่างที่เจ้าศากยะองค์อื่นผู้มีชื่อเสียงได้กระทำกัน และครั้นเมื่อได้ฟัง คำพูดของพระมหานามศากยะผู้พี่ว่า การงานของผู้อยู่ครองเรือนไม่มีสิ้นสุด ที่สุดของการงานไม่มีปรากฎ จึงตัดสินใจให้พี่อยู่ครองเรือนส่วนตนออกบวช ฯ |
๒. | พระปุณณมันตานีบุตรเป็นชาวเมืองไหน ? ตั้งอยู่ในคุณธรรมอะไรบ้าง ? เป็ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ฯ ตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการ คือ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ปรารภความเพียร บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ความรู้เห็นในวิมุตติ ฯ |
๓. | อาสยะ และ ปโยคะ ในสัตตูปการสัมปทา หมายถึงอะไร ? อาสยะ หมายถึง ความมีพระหฤทัยเยือกเย็นด้วยความกรุณา ปรารถนาคุณประโยชน์อยู่เป็นนิตย์ แม้ในบุคคลที่ทำผิดต่อพระองค์มีพระเทวทัตเป็นต้น ก็ยังทรงกรุณา ฯ ปโยคะ หมายถึง ความมีพระหฤทัยมิได้มุ่งหวังต่ออามิส เทศนาสั่งสอนสัตว์ด้วยข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯ |
๑. | ถูปารหบุคคล คือใคร ? มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ? บุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูปไว้ประดิษฐาน ฯ มี ๔ ประเภท ฯ คือ ๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า ๓. พระอรหันตสาวก ๔. พระเจ้าจักรพรรดิราช ฯ |
๒. | อายุสังขาราธิษฐาน กับ การปลงอายุสังขาร หมายถึงอะไร ? พระพุทธเจ้าทรงกระทำที่ไหน ? อายุสังขาราธิษฐาน หมายถึง การที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระหฤทัยว่า จักดำรงพระชนม์อยู่แสดงธรรมสั่งสอนมหาชน จนกว่าพุทธบริษัทจะตั้งมั่น และได้ประกาศพระศาสนาให้แพร่หลาย มั่งคงสำเร็จประโยชน์แก่มหาชน ฯ ทรงกระทำที่อชปาลนิโครธ ใกล้สถานที่ตรัสรู้ ฯ การปลงอายุสังขาร หมายถึง การที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดวันปรินิพพาน นับแต่วันเพ็ญเดือน ๓ ไปอีก ๓ เดือน ฯ ที่ปาวาลเจดีย์ เมืองไพศาลี ฯ |
๓. | พุทธเจดีย์มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ? พระพุทธรูปสงเคราะห์เข้าในเจดีย์ประเภทใด ? มี ๔ ประเภท ฯ คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุทเทสิกเจดีย์ ฯ สงเคราะห์เข้าในอุทเทสิกเจดีย์ ฯ |
๔. | พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินารา เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ด้วยเหตุผลอันใด ? ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ ๑. จะเป็นเหตุเกิดแห่งมหาสุทัสสนสูตร ๒. จะได้โปรดสุภัททปริพาชก ผู้เป็นพุทธเวไนย ๓. จะได้ป้องกันการรบกันครั้งใหญ่เพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ ฯ |
๕. | อภิญญาเทสิตธรรม มีอะไร ? ทรงแสดงแก่ใคร ? ที่ไหน ? มี สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฯ ทรงแสดงแก่ภิกษุสงฆ์ผู้อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี ฯ ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ฯ |
๑. | หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระสาวดองค์ใดเป็นประธานในการทำปฐมสังคายนา เพราะปรารภเหตุใด ? พระมหากัสสปะ ฯ เพราะปรารภคำกล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยของพระสุภัททะ ผู้บวชตอนแก่ ในระหว่างเดินทางมาสักการะพระพุทธสรีระ ฯ |
๒. | พระมหากัสสปะชักชวนภิกษุทั้งหลายให้ทำสังคายนาครั้งแรก เพราะปรารภเหตุอะไร ? เพราะปรารภเหตุ ๒ ประการ คือ ๑. ระลึกถึงคำของสุภัททวุฑฒบรรพชิตกล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัย ๒. ระลึกถึงอุปการคุณของพระผู้มีพระภาคที่มีอยู่แก่ตน ฯ |
๓. | สุภัททวุฑฒบรรพชิต กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยว่าอย่างไร ? และทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรในกาลต่อมา ? กล่าวว่า "เราทั้งหลายได้พ้นเสียแล้วด้วยดีจากพระสมณะนั้น ด้วยท่านสั่งสอนว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร เราเกรงก็ต้องทำตาม เป็นความลำบากนัก ก็บัดนี้เราจะทำสิ่งใดหรือมิพอใจทำสิ่งใดตามความปรารถนา จะต้องเกรงแต่บัญชาของผู้ใดเหล่า" ฯ เป็นเหตุให้เกิดสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๑ ฯ |
๔. | ในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระพุทธสรีระส่วนใดยังคงเหลืออยู่ ? พระอัฐิ พระเกสา พระโลมา พระนขา พระทันตา เหลืออยู่ นอกนั้นถูกเพลิงไหม้หมดสิ้น ฯ |
๕. | การทำสังคายนาครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากปรินิพพานแล้วกี่เดือน ? ใช้เวลาเท่าไร ? ใครทำหน้าที่ปุจฉาและวิสัชนา ? พระองค์เสด็จปรินิพพานล่วงแล้ว ๓ เดือน ฯ ใช้เวลา ๗ เดือน ฯ พระมหากัสสปะทำหน้าที่ปุจฉา พระอุบาลีทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ทำหน้าที่วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม ฯ |
๖. | พระมหากัสสปะ พระอุบาลี และพระอานนท์ องค์ใดนิพพานก่อนหรือหลังพระพุทธองค์ ? จงอ้างหลักฐานมาแสดง นิพพานหลังพระพุทธองค์ทั้งหมด ฯ หลักฐาน คือ พระสาวกทั้ง ๓ องค์นั้นได้ร่วมประชุมสงฆ์ทำสังคายนาครั้งที่ ๑ หลังพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน ฯ |