เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก - วิชาธรรม [พระเณร]

<h1>เก็งข้อสอบวิชาธรรมวิจารณ์ นักธรรมชั้นเอก,เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นเอก,แนวข้อสอบวิชาธรรมวิจารณ์</h1>



ดาวน์โหลด หรือเปิดอ่านแบบ PDF




เก็งข้อสอบวิชาธรรมวิภาค นักธรรมชั้นเอก
{getButton} $text={นิพพิทา ความเบื่อหน่าย} $color={#009933}
๑. นิพพิทาคืออะไร ? ปฏิปทาเครื่องดำเนินให้ถึงนิพพิทานั้นอย่างไร ?
นิพพิทา คือ ความหน่ายในเบญจขันธ์ หรือในทุกข์ขันธ์ด้วยปัญญา ฯ
อย่างนี้คือ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ย่อมเกิดนิพพิทา เบื่อหน่ายในทุกขขันธ์ ไม่ เพลิดเพลินยึดมั่นหมกมุ่นอยู่ในสังขารอันยั่วยวนเสน่หา ฯ
๒. นิพพิทา คืออะไร ? บุคคลผู้ไม่ประสบลาภยศสรรเสริญสุข จึงเบื่อหน่ายระอา อย่างนี้จัดเป็นนิพพิทาได้หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?
นิพพิทา คือ ความหน่ายในทุกข์ขันธ์ ฯ
จัดเป็นนิพพิทาไม่ได้ ฯ เพราะความเบื่อหน่ายดังที่กล่าวนั้นเป็นความท้อแท้ มิใช่เป็นความหน่ายด้วยปัญญา ฯ
๓. พระพุทธเจ้าตรัสว่า "สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันตระการดุจราชรถ" ทรงมีพระพุทธประสงค์อย่างไร ?
มีพระประสงค์เพื่อทรงชักชวนแนะนำให้ดูถึงคุณประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เช่นเดียวกับดูละคร มิให้หลงชมความสวยงามต่างๆ แต่ให้เพ่งดูคติที่ดีและชั่ว มิให้มามัวไปตามสิ่งนั้น ดังที่ตรัสต่อไปอีกว่า ดังที่คนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ ฯ
๔. คนมีลักษณะอย่างไรชื่อว่า หมกอยู่ในโลก ?
คนผู้ไร้วิจารณญาณไม่หยั่งเห็นโดยถ่องแท้ เพลิดเพลินในสิ่งอันให้โทษ ระเริงจนเกินพอดี ในสิ่งอันอาจให้โทษ ติดในสิ่งอันเป็นอุปการะจนถอนตนไม่ออก คนมี ลักษณะอย่างนี้ ย่อมได้รับสุขบ้างทุกข์บ้าง แม้สุขก็เป็นเพียงสามิสสุข สุขอันมีเหยื่อล่อใจ เป็นเหตุให้ติดดุจเหยื่อ อันเบ็ดเกี่ยวไว้ฉะนั้น ฯ
๕. ข้อว่า ผู้ใดจักระวังจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร ดังนี้ คำว่า "มารและบ่วงแห่งมาร" ได้แก่อะไร ? เพราะเหตุไรจึงชื่ออย่างนั้น ?
คำว่า มาร ได้แก่ กิเลสกาม อันทำจิตให้เศร้าหมอง คือตัณหา ราคะ อรติ เป็นต้น ชื่ออย่างนั้นเพราะเป็นโทษล้างผลาญคุณความดีและทำให้เสียคน ฯ
บ่วงแห่งมาร ได้แก่ วัตถุกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ อันเป็นของน่าชอบใจ ชื่ออย่างนั้นเพราะเป็นอารมณ์เครื่องผูกใจให้ติด ฯ
๖. การสำรวมจิตให้พ้นจากบ่วงแห่งมาร ในหนังสือธรรมวิจารณ์ มีวิธีปฏิบัติอย่างไร ?
แนะนำวิธีปฏิบัติไว้ ๓ ประการคือ
๑. สำรวมอินทรีย์มิให้ความยินดีครอบงำ ในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา
๒. มนสิการกัมมัฏฐานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ คือ อสุภะและกายคตาสติ หรืออันยังจิตให้สลด คือมรณัสสติ
๓. เจริญวิปัสสนา คือ พิจารณาสังขารแยกออกเป็นขันธ์ สันนิษฐานเห็นเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯ
๗. อนิจฺจตา ความไม่เที่ยงแห่งสังขาร กำหนดรู้ในทางง่ายได้ด้วยอาการอย่างไร ?
ด้วยความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และความสิ้นในเบื้องปลาย ฯ
๘. ลักษณะเช่นใดบ้าง เป็นเครื่องกำหนดให้รู้ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ? จงอธิบาย
๑. กำหนดรู้ในทางง่าย ด้วยความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และความสิ้นในเบื้องปลาย
๒. กำหนดรู้ในทางละเอียดกว่านั้น ด้วยความแปรในระหว่างงเกิดและดับ
๓. กำหนดรู้ในทางสุขุม ด้วยความแปรแห่งสังขารในชั่วขณะหนึ่ง ไม่คงที่อยู่นาน เช่น ความรู้สึกสุขทุกข์ เป็นต้น ฯ
๙. ทุกขลักษณะ และทุกขานุปัสสนา เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน ?
ต่างกัน คือ
ทุกขลักษณะ ได้แก่ ลักษณะที่เป็นทุกข์แห่งสังขาร เพราะถูกบีบคั้นจากปัจจัยต่างๆ
ทุกขานุปัสสนา ได้แก่ ปัญญาพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นทุกข์ ฯ
๑๐. ทุกข์ประจำสังขาร กับทุกข์จร ต่างกันอย่างไร ?
ทุกข์ประจำสังขาร เป็นทุกข์ที่ต้องมีแก่คนทุกคน ไม่สามารถจะหลีกเหลี่ยงพ้น ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย
ส่วนทุกข์จร เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว ได้แก่ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ประจวบด้วยคนหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก พรากจากคนหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาไม่ได้สมหวัง ฯ
๑๑. นิพัทธทุกข์ กับสหคตทุกข์ ต่างกันอย่างไร ?
นิพัทธ์ทุกข์ คือทุกข์เนืองนิตย์ หรือทุกข์เป็นเจ้าเรือน ได้แก่ หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
ส่วนสหคตทุกข์ คือทุกข์ไปด้วยกัน หรือทุกข์กำกับกัน ได้แก่ทุกข์มีเนื่องมาจากวิบูลผล ฯ
๑๒. สภาวทุกข์ สันตาปทุกข์ ได้แก่อะไร ?
สภาวทุกข์ ได้แก่ ทุกข์ประจำสังขาร คือ ชาติ ชรา มรณะ
สันตาปทุกข์ ได้แก่ ความกระวนกระวายใจเพราะถูกไฟคือกิเลสเผา ฯ
๑๓. ความเป็นอนัตตาแห่งสังขาร พึงกำหนดรู้ด้วยอาการอย่างไร ?
ด้วยอาการอย่างนี้ คือ
๑. ไม่อยู่ในอำนาจ หรือฝืนความปรารถนา
๒. แย้งต่ออัตตา
๓. ความเป็นสภาพหาเจ้าของมิได้
๔. ความเป็นสภาพสูญ ฯ


{getButton} $text={วิราคะ ความสิ้นกำหนัด} $color={#009933}
๑. วิราคะ ได้แก่อะไร ? คำว่า "วัฏฏูปจฺเฉโท ธรรมเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ" มีอธิบายว่าอย่างไร ? และตัดขาดได้อย่างไร ?
ได้แก่ ความสิ้นกำหนัด ฯ
อธิบายว่า วัฏฏะ หมายถึง ความเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจกิเลสกรรมและวิบาก วิราคะเข้าไปตัดความเวียนว่ายตายเกิดนั้น จึงเรียกว่า วัฏฏูปจฺเฉโท ธรรมเข้าไปตัดซึ่งวัฏฏะ ฯ ตัดขาดได้โดยการละกิเลสอันเป็นเบื้องต้นเสีย ฯ
๒. ตัณหา เมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดที่ไหนและเมื่อดับย่อมดับที่ไหน ? ตัณหานั้นย่อมสิ้นไปเพราะธรรมอะไร ?
เมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดในสิ่งอันเป็นที่รักที่ยินดีในโลก เมื่อดับย่อมดับในสิ่งที่เป็นที่รักที่ยินดีในโลก ฯ ตัณหาย่อมสิ้นไปเพราะ นิพพาน ฯ
๓. ความอยากที่เข้าลักษณะเป็นตัณหาและไม่เป็นตัณหานั้น ได้แก่ความอยากเช่นไร ? เพราะเหตุไร ?
ความอยากที่เข้าลักษณะตัณหา ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความยินดีเพลิดเพลินในอารมณ์นั้น อย่างนี้จัดเป็นตัณหา เพราะเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ฯ
ส่วนความอยากข้าว อยากน้ำ เป็นต้น ไม่จัดว่าเป็นตัณหา เพราะเป็นความอยากที่เป็นไปตามธรรมดาของสังขาร ฯ
๔. ไวพจน์แห่งวิราคะว่า มทนิมฺมทโน ธรรมยังความเมาให้สร่าง ความเมาในที่นี้ หมายถึงความเมาในอะไร ?
หมายถึง ความเมาในอารมณ์อันยั่วยวนให้เกิดความเมาทุกประการ เช่น ความถึงพร้อมแห่งชาติ สกุล อิสริยะ และบริวาร หรือลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือความเยาว์วัย ความหาโรคมิได้ และชีวิต ฯ


{getButton} $text={วิมุตติ ความหลุดพ้น} $color={#009933}
๑. ในวิมุตติ ๕ วิมุตติใดจัดเข้าใน อริยมรรค อริยผล นิพพาน ?
สมุจเฉทวิมุตติ จัดเข้าในอริยมรรค
ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ จัดเข้าในอริยผล
นิสสรณวิมุตติ จัดเข้าในนิพพาน ฯ
๒. ความหลุดพ้นอย่างไรเป็นสมุจเฉทวิมุตติ ? จัดเป็นโลกิยะหรือโลกุตตระ ?
คือ ความหลุดพ้น ด้วยการตัดกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ได้แก่ อริยมรรค ฯ จัดเป็นโลกุตตระ ฯ
๓. วิมุตติ ๕ อย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหนเป็นโลกุตตระ ?
ตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ เป็นโลกิยะ
สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ นิสสรณวิมุตติ เป็นโลกุตตระ ฯ


{getButton} $text={วิสุทธิ ความหมดจด} $color={#009933}
๑. จงจัดมรรค ๘ ลงในวิสุทธิ ๗ มาดู
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเข้าใน สีลวิสุทธิ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเข้าใน จิตตวิสุทธิ
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเข้าใน ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิ ฯ
๒. วิสุทธิ ๗ แต่ละอย่างๆ จัดเข้าในไตรสิกขาได้อย่างไร ?
สีลวิสุทธิ จัดเข้าใน สีลสิกขา
จิตตวิสุทธิ จัดเข้าใน จิตตสิกขา
ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิ จัดเข้าใน ปัญญาสิกขา ฯ
๓. พระบาลีว่า "ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ บุคคลย่อมหมดจดด้วยปัญญา" มีอธิบายอย่างไร ?
มีอธิบายว่า ผู้พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขาร ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความเบื่อหน่ายแล้ววางเฉยในสังขารนั้น ไม่ยินดียินร้าย ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล ความหมดจดย่อมเกิดขึ้นด้วยปัญญาอย่างนี้ ฯ
๔. ในวิสุทธิ ๗ วิสุทธิข้อไหนบ้าง เป็นเหตุให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่แห่งวิปัสสนา ? เพราะเหตุไร ? จงอธิบาย
ข้อสีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งศีล และจิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งจิต เป็นเหตุให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่แห่งวิปัสสนา ฯ
เพราะถ้ามีศีลไม่บริสุทธิ์ จิตย่อมไม่สงบ เมื่อจิตไม่สงบก็ยากที่จะเจริญวิปัสสนา ฯ
๕. ธรรมอะไรพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นยอดแห่งสังขตธรรม ? เพราะเหตุไร ?
อัฏฐังคิกมรรค เป็นยอดแห่งสังขตธรรม ฯ
เพราะองค์ ๘ แต่ละองค์ๆ ของอัฏฐังคิกมรรค ก็เป็นธรรมดีๆ รวมกันเข้าทั้ง ๘ ย่อมเป็นธรรมดียิ่งนัก และเป็นทางเดียวนำไปสู่ความดับทุกข์หรือถึงความหมดจดแห่งทัสสนะ ฯ


{getButton} $text={สันติ ความสงบ} $color={#009933}
๑. บาลีว่า "โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข ผู้เพ่งความสงบพึงละอามิสในโลกเสีย" คำว่า อามิสในโลก หมายถึงอะไร ?
หมายถึง กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ฯ
๒. สันติ ความสงบเกิดขึ้นที่ใด ? มีปฏิปทาที่จะดำเนินอย่างไร ?
เกิดขึ้นที่กาย วาจา ใจ ฯ
มีปฏิปทาที่จะดำเนิน คือ ปฏิบัติกาย วาจา ใจ ให้สงบจากโทษเวรภัย ด้วยการละโลกามิสคือกามคุณ ๕ ฯ
๓. สันติ ความสงบ เป็นโลกิยะ หรือโลกกุตตระ จงตอบโดยอ้างพระบาลีมาประกอบ
เป็นได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตตระ ฯ
ที่เป็นโลกิยะได้ในบาลีว่า "น หิ รุณฺเณน โสเกน สนฺตึ ปปฺโปติ เจตโส บุคคลย่อมถึงความสงบแห่งจิต ด้วยร้องให้ ด้วยเศร้าโศกก็หาไม่
ที่เป็นโลกุตตระได้ในบาลีว่า "โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข ผู้เพ่งสันติพึงละโลกามิสเสีย ฯ


{getButton} $text={นิพพาน ความดับทุกข์} $color={#009933}
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน กับ อนุปาทิเสสนิพพาน ต่างกันอย่างไร ?
สอุปาทิเสสนิพพาน เป็นความดับกิเลสที่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ
อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นความดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ฯ
๒. พระบาลีว่า สิญฺจ ภิกฺขุ อมํ นาวํ แปลว่า ภิกษุเธอจงวิดเรือนี้ คำว่า เรือ และคำว่า วิด ในที่นี้หมายถึงอะไร ?
คำว่า เรือ หมายถึง อัตภาพร่างกาย
คำว่า วิด หมายถึง บรรเทากิเลสและบาปธรรมเสียให้บางเบา จนขจัดได้ขาด ฯ
๓. ข้อความว่า ปลงภาระอันหนักเสียแล้ว ไม่ถือเอาภาระอันอื่น ดังนี้ มีอธิบายอย่างไร ?
อธิบายว่า ภาระ หมายเอาเบญจขันธ์ การปลงภาระหมายเอาการถอนอุปาทาน การไม่ถือเอาภาระอื่น หมายเอาการไม่ถือเอาเบญจขันธ์อื่นด้วยอุปาทาน ฯ
๔. คำว่า อุปาทิ ในคำว่า สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึงอะไร ?
หมายถึง ขันธ์ ๕ (ขันธปัญจก) ฯ
๕. พระบาลีว่า “สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ธรรมเป็นที่สละอุปธิทั้งปวง” ในคำนี้ อุปธิ เป็นชื่อของอะไรได้บ้าง ? แต่ละอย่างมีอธิบายว่าอย่างไร ?
เป็นชื่อของกิเลส และปัญจขันธ์ ฯ
ที่เป็นชื่อของกิเลส มีอธิบายว่า เข้าไปทรงคือเข้าครอง
ที่เป็นชื่อแห่งปัญจขันธ์ มีอธิบายว่า เข้าไปทรงคือหอบไว้ซึ่งทุกข์ ฯ


{getButton} $text={ส่วนสังสารวัฏ} $color={#009933}
๑. คติ คืออะไร ? สัตว์โลกที่ตายไป มีคติเป็นอย่างไรบ้าง ?
คือ ภูมิหรือภพเป็นที่ไปหลังจากตายแล้ว ฯ มีคติเป็น ๒ คือ
๑. ทุคติ ภูมิเป็นที่ไปข้างชั่ว ซึ่งเกิดจากการประพฤติทุจริตทางกายวาจาใจ
๒. สุคติ ภูมิเป็นที่ไปข้างดี ซึ่งเกิดจากการประพฤติสุจริตทางกายวาจาใจ ฯ
๒. ในส่วนสังสารวัฏ สัตว์โลกตายแล้วมีคติเป็นอย่างไร ? มีพระบาลีแสดงไว้อย่างไร ?
มีคติเป็น ๒ คือ สุคติและทุคติ ฯ มีพระบาลีแสดงไว้ว่า
จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้
จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง ฯ
๓. คำว่า สุคติ ในพระบาลีว่า จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา คืออะไร ? มีอะไรบ้าง ?
คือ ภูมิเป็นที่ไปข้างดี ฯ มีเทวะ ๑ มนุษย์ ๑ หรือ สุคติ ๑ โลกสวรรค์ ๑ ฯ
๔. คำว่า ทุคติ ในพระบาลีว่า จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา คืออะไร ? มีอะไรบ้าง ?
คือ ภูมิเป็นที่ไปข้างชั่ว ฯ มี นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ฯ
๕. อบาย คืออะไร ? ในอรรถกถาแจกไว้เป็น ๔ อย่าง อะไรบ้าง ?
คือ โลกที่ปราศจากความเจริญ ฯ
มี นิรยะ ติรัจฉานโยนิ ปิตติวิสยะ อสุรกาย ฯ


{getButton} $text={หัวใจสมถกัมมัฏฐาน} $color={#009933}
๑. สมถกัมมัฏฐาน กับ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ต่างกันอย่างไร ?
สมถกัมมัฏฐาน คือ กัมมัฏฐานเป็นอุบายเครื่องสงบใจ
วิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ กัมมัฏฐานเป็นอุบายเครื่องเรืองปัญญา ฯ
๒. หัวใจของสมถกัมมัฏฐาน มีอะไรบ้าง ?
มี กายาคตาสติ เมตตา พุทธานุสสติ กสิณ และจตุธาตุววัตถาน ฯ
๓. ผู้เจริญเมตตาเป็นประจำ ย่อมได้รับอานิสงส์อะไรบ้าง ?
ย่อมได้รับอานิสงส์อย่างนี้ คือ
๑. หลับอยู่ก็เป็นสุข
๒. ตื่นอยู่ก็เป็นสุข
๓. ไม่ฝันเห็นสิ่งลามก
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้วหลาย
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
๗. ไฟไม่ไหม้ พิษหรือศัตราวุธทั้งหลายไม่อาจประทุษร้าย
๘. จิตย่อมตั้งมั่นได้เร้วพลัน
๙. ผิวพรรณย่อมผ่องใสงดงาม
๑๐. ไม่หลงทำกาลกิริยา คือเมื่อจะตายย่อมได้สติ
๑๑. เมื่อตายแล้ว แม้เกิดอีก ก็ย่อมเกิดในที่ดีเป็นที่เสวยสุข ถ้าไม่เสื่อมจากฌานก็ไปเกิดในพรหมโลก ฯ
๔. นิวรณ์ คืออะไร ? เมื่อจิตถูกนิวรณ์นั้นๆ ครอบงำควรใช้กัมมัฏฐานบทใดเป็นเครื่องแก้ ?
คือ ธรรมอันกลั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ฯ
กามฉันท์ ใช้อสุภกัมมัฏฐาน หรือกายาคตาสติเป็นเครื่องแก้
พยาบาท ใช้เมตตา กรุณา มุทิตา พรหมวิหาร ๓ ข้อเป็นเครื่องแก้
ถีนมิทธะ ใช้อนุสสติกัมมัฏฐานเป็นเครื่องแก้
อุทธัจจกุกุจจะ ใช้กสิณหรือมรณัสสติเป็นเครื่องแก้
วิจิกิจฉา ใช้ธาตุกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นเครื่องแก้ ฯ
๕. ปฐมฌาณ ประกอบด้วยองค์เท่าไร ? อะไรบ้าง ?
ด้วยองค์ ๕ ฯ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ฯ


{getButton} $text={สมถกัมมัฏฐาน} $color={#009933}
๑. อารมณ์ของสติปัฏฐานมีอะไรบ้าง ? ผู้เจริญสติปัฏฐานพึงมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ?
มี กาย เวทนา จิต ธรรม ฯ
๑. อาตาปี มีความเพียรเผากิเลส
๒. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ
๓. สติมา มีสติ ฯ
๒. เจริญมรณสติอย่างไรจึงแยบคาย บรรเทาความเมาในชีวิตไม่ติดในโลกธรรม ?
เจริญพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ
๑. สติ ระลึกถึงความตาย
๒. ญาณ รู้ว่าความตายจักมีแก่ตน
๓. เกิดสังเวชสลดใจ ฯ
๓. คนวิตกจริตมีนิสัยอย่างไร ? คนประเภทนี้ควรเจริญกัมมัฏฐานบทใด ?
มีนิสัย ชอบคิดมาก ฟุ้งซ่าน ฯ ควรเจริญอานาปานัสสติกัมมัฏฐาน ฯ
๔. จริต คืออะไร ? เพราะเหตุใดจึงต้องเจริญกัมมัฏฐานให้เหมาะกับจริตของตน ?
คือ ความประพฤติเป็นปกติของบุคคล ฯ
เพราะ กัมมัฏฐานแต่ละอย่างก็เป็นที่สบายของคนแต่ละจริต ถ้าเจริญไม่เหมาะกับจริต กรรมฐานก็จะสำเร็จได้โดยยาก ฯ
๕. ในสมถกรรมฐาน ๔๐ ประการ มีนิมิตและภาวนากี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
มีนิมิต ๓ คือ บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต
และภาวนา ๓ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา และอัปปนาภาวนา ฯ
๖. บรรดาอาการ ๓๒ ประการนั้น ส่วนที่เป็นอาโปธาตุมีอะไรบ้าง ?
มี ดี เสมหะ น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ฯ
๗. จตุธาตุววัตถานกัมมัฏฐาน คืออะไร ? ผู้เจริญกัมมัฏฐานนี้จะพึงกำหนดพิจารณาอย่างไร ?
คือ ความกำหนดหมายซึ่งธาตุ ๔ โดยสภาวะความเป็นเองของธาตุ ฯ
พึงกำหนดพิจารณาทั้งกายตนเองและกายผู้อื่นให้เห็นเป็นแต่สักว่าธาตุ และพึงกำหนดให้รู้จักธาตุภายในภายนอกให้เห็นเป็นแต่สักว่าธาตุไปหมดทั้งโลกไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ฯ
๘. ในนวสีวถิกาปัพพะ เมื่อเห็นซากศพชนิดใดชนิดหนึ่งใน ๙ ชนิดนั้น พึงภาวนาอย่างไร ?
พึงภาวนาโดยการน้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า
อยมฺปิ โข กาโย ถึงร่างกายอันนี้เล่า
เอวํธมฺโม ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา
เอวํภาวี จักเป็นอย่างนี้
เอวํ อนตีโต ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ฯ


{getButton} $text={พุทธคุณกถา} $color={#009933}
๑. ในพุทธคุณ ๙ ประการนั้น ส่วนไหนเป็นเหตุ ส่วนไหนเป็นผล ? เพราะเหตุไร ?
พระพุทธคุณ ส่วนอัตตสมบัติ เป็นเหตุ ส่วนปรหิตปฏิบัติ เป็นผล ฯ
เพราะทรงบริบูรณ์ด้วยพระพุทธคุณส่วนอัตตสมบัติก่อน แล้วจึงทรงบำเพ็ญพุทธกิจให้สำเร็จประโยชน์แก่เวไนย ฯ
๒. จงแสดงพระพุทธคุณ ๙ โดยอัตตสมบัติและปรหิตปฏิบัติ พอได้ใจความ ?
พระพุทธคุณ คือ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู เป็นพระพุทธคุณส่วนอัตตสมบัติ
พระพุทธคุณ คือ อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นพระพุทธคุณส่วนปรหิตปฏิบัติ
พระพุทธคุณ คือ พุทฺโธ ภควา เป็นพระพุทธคุณทั้งอัตตสมบัติและปรหิตสมบัติ ฯ


{getButton} $text={วิปัสสนากัมมัฏฐาน} $color={#009933}
๑. ปัญญารู้เห็นอย่างไร ชื่อว่าวิปัสสนาปัญญา ?
ปัญญาอันเห็นตามเป็นจริง คือกำหนดรู้สังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑ โดยความเป็นทุกข์ ๑ โดยความเป็นอนัตตา ๑ ถอนความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิเสียได้ ชื่อว่า วิปัสสนาปัญญา ฯ
๒. ท่านว่า ผู้ที่เจริญวิปัสสนาปัญญา พึงรู้ฐานะ ๖ ก่อน ฐานะ ๖ นั้นมีอะไรบ้าง ?
มี ๑. อนิจจะ ของไม่เที่ยง
๒. อนิจจลักขณะ เครื่องหมายที่จะให้กำหนดรู้ว่าไม่เที่ยง
๓. ทุกขะ ของสัตว์ทนได้ยาก
๔. ทุกขลักษณะ เครื่องหมายที่จะให้กำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์
๕. อนัตตา สิ่งสภาพไม่ใช่ตัวตน
๖. อนัตตลักขณะ เครื่องหมายที่จะกำหนดรู้ว่าเป็นอนัตตา ฯ
๓. ผู้จะเจริญวิปัสสนาภาวนา พึงศึกษาให้รู้จักธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง ?
คือ
๑. ธรรมเป็นภูมิเป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น (มีขันธ์ ๕ เป็นต้น)
๒. ธรรมเป็นรากเหง้า เป็นเหตุเกิดขึ้นตั้งอยู่ของวิปัสสนานั้น (คือสีลวิสุทธิและจิตติวิสุทธิ)
๓. ตัว คือ วิปัสสนานั้น (คือ วิสุทธิ ๕ ที่เหลือ) ฯ
๔. ในอนัตตลักขณสูตร พระศาสดาทรงยกธรรมอะไรขึ้นแสดงว่าเป็นอนัตตา ?
ทรงยก ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขึ้นแสดงว่าเป็นอนัตตา ฯ
๕. ในอนัตตลักขณสูตร พระศาสดาทรงแสดงอานิสงส์แห่งวิปัสสนาว่าอย่างไร ?
ทรงแสดงไว้ว่า เอวํปสฺสํภิกฺขเว สุตฺวา อริยสาวโก เป็นต้น หมายความว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมฟอกจิตให้หมดจด เพราะการฟอกจิตให้หมดจดได้ จิตนั้นก็พ้นจากอาสวะทั้งปวง เมื่อจิตพ้นพิเศษแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า พ้นแล้ว และเธอรู้ประจักษ์ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์คือกิจพระศาสนา ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเช่นนี้ ไม่มีอีก ฯ


{getButton} $text={วิปัลลาสกถา} $color={#009933}
๑. วิปัลลาส คืออะไร ? แบ่งตามจิตและเจตสิกได้แกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ?
คือ กิริยาที่ถือเอาอาการวิปริตผิดจากความเป็นจริง ฯ แบ่งได้ ๓ ประเภท ฯ คือ
๑. สัญญาวิปัลลาส ๒. จิตตวิปัลลาส ๓. ทิฏฐิวิปัลลาส ฯ
๒. วิปัลลาสจำแนกโดยวัตถุเป็นที่ตั้งมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
มี ๔ อย่าง คือ
๑. ความสำคัญคิดเห็นในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
๒. ความสำคัญคิดเห็นในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าสุข
๓. ความสำคัญคิดเห็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน และ
๔. ความสำคัญคิดเห็นในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ฯ
๓. ในอรกสูตรกล่าวไว้ว่า “ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง” ดังนี้ มีอธิบายอย่างไร ? และที่กล่าวไว้เช่นนั้นมีประโยชน์อย่างไร ?
มีอธิบายว่า ธรรมดาหยาดน้ำค้างที่จับอยู่ตามยอดหญ้า เมื่อถูกแสงอาทิตย์ในเวลาเช้า ก็พลันจะเหือดแห้งหายไปฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น มีความเกิด แล้วก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย คอยเบียดเบียน ทำให้ดำรงอยู่ได้ไม่นาน ไม่ถึงร้อยปีก็จะหมดไป ฯ
มีประโยชน์คือ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้รู้สึกด้วยปัญญา ทำให้ไม่ประมาทในชีวิต จักได้เร่งสั่งสมความดี ฯ
๔. ในอรกสูตรกล่าวไว้ว่า “ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อนาบไฟ” มีอธิบายอย่างไร ?
มีอธิบายว่า ธรรมดาชิ้นเนื้อที่บุคคลเอาลงในกระทะเหล็กอันร้อนตลอดวันยังค่ำย่อมจะพลันไหม้ ไม่ตั้งอยู่นานฉันใด ชีวิตก็ถูกเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์เผาผลาญให้ เหี้ยมเกรียมไม่ทนอยู่นานฉันนั้น ฯ


{getButton} $text={มหาสติปัฏฐาน} $color={#009933}
๑. สติปัฏฐาน ๔ คืออะไรบ้าง ? การพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของปฏิกูล จัดเข้าในสติปัฏฐานข้อไหน ?
คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฯ
จัดเข้าในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฯ
๒. สติปัฏฐาน ๔ ผู้ปฏบัติธรรมอบรมให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว ย่อมเป็นเพื่ออานิสงส์ ๕ ประการอะไรบ้าง ?
อานิสงส์ ๕ ประการ คือ
๑. เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย
๒. เพื่อความข้ามพ้นโสกะปริเทวะทั้งหลาย
๓. เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส
๔. เพื่อความบรรลุธรรมที่ควรรู้
๕. เพื่อความทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ฯ
๓. ผู้เจริญมหาสติปัฏฐาน ต้องประกอบด้วยธรรมอะไรบ้าง จึงจะกำจัดอภิชฌาและโทมนัสได้ ?
ต้องประกอบด้วยธรรม ๓ คือ
๑. อาตาปี มีความเพียรเผากิเลสให้เร้าร้อน
๒. สัมปชาโน รู้ทั่วพร้อม
๓. สติมา มีสติ ฯ


{getButton} $text={คิริมานนทสูตร} $color={#009933}
๑. พระพุทธเจ้าทรงแสดงคิริมานนทสูตรที่ไหน ? แก่ใคร ? ว่าด้วยเรื่องอะไร ?
ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี ฯ แก่พระอานนท์ ฯ ว่าด้วยสัญญา ๑๐ ฯ
๒. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัญญา ๑๐ แก่ใคร ? อนิจจสัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้พิจารณาธรรมอะไร ?
แก่ พระอานนทเถระ ฯ ทรงให้พิจารณาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯ
๓. อนิจจสัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้พิจารณาธรรมอะไร ?
พิจารณาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯ
๔. ในคิริมานนทสูตร ข้อว่า ปหานสัญญา พระศาสดาทรงสอนให้ละอะไร ?
ทรงสอนให้ละ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก และอกุศลบาปธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ฯ
๕. ข้อว่า อนัตตสัญญา ในคิริมานนทสูตร ทรงให้พิจารณาว่าอะไรเป็นอนัตตา ?
ทรงให้พิจารณาอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ว่าเป็นอนัตตา ฯ
๖. พระคิริมานนท์หายจากอาพาธ เพราะฟังธรรมจากใคร ? ธรรมนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร ?
จากพระอานนท์ ฯ ว่าด้วยเรื่องสัญญา ๑๐ ฯ


แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า
ADVERTISMENT