ดาวน์โหลด หรือเปิดอ่านแบบ PDF
๑. | พระวินัยแบ่งออกเป็นกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? พระวินัยแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง ฯ คือ อาทิพรหมจาริยาสิกขา ๑ อภิสมาจาร ๑ ฯ |
๒. | อาทิพรหมจริยกาสิกขา กับ อภิสมาจาริกาสิกขา ต่างกันอย่างไร ? อาทิพรหมจริยาสิกขา ได้แก่ข้อศึกษาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ อันได้แก่พระพุทธบัญญัติที่ทรงตั้งไว้ให้เป็นพุทธอาณา เป็นสิกขาบทอันมาในพระปาติโมกข์ เป็นข้อบังคับ โดยตรงที่ภิกษุจะต้องประพฤติปฏิบัติโดยเคร่งครัด, ส่วนอภิสมาจาริยาสิกขา ได้แก่ข้อศึกษาอันเนื่องด้วย อภิสมาจาร คือมารยาทอันดี ที่ทรงบัญญัติหรืออนุญาตไว้ อันมานอกพระปาติโมกข์ เป็นขนบธรรมเนียมอันดีงามของหมู่คณะที่ควรประพฤติ ฯ |
๓. | สิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์เรียกว่าอะไร ? ทรงบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ? เรียกว่า อภิสมาจาร ฯ ทรงบัญญัติไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของภิกษุ และเพื่อความงามของพระศาสนา เช่นเดียวกับตระกูลใหญ่ จำต้องมีขนบธรรมเนียมและระเบียบไว้รักษาเกียรติและความเป็นผู้ดีของตระกูล ฯ |
๔. | อภิสมาจาร คืออะไร ? ภิกษุผู้ไม่เอื้อเฟื้อในอภิสมาจารท่านปรับอาบัติอะไรบ้าง ? คือ ธรรมเนียมหรือมารยาทที่ดีงามของภิกษุ ฯ ปรับอาบัติถุลลัจจัยเป็นอย่างสูง แต่มีน้อย ส่วนมากปรับอาบัติทุกกฏเป็นพื้น ฯ |
๕. | ภิกษุผู้ปฏิบัติพระวินัยส่วนอภิสมาจารให้ดีงาม จะต้องปฏิบัติอย่างไร ? ต้องปฏิบัติโดยสายกลาง คือไม่ถือเคร่งครัดอย่างงมงาย จนเป็นเหตุทำตนให้ลำบากเพราะเหตุธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ อันขัดต่อกาลเทศะ และไม่สะเพร่ามักง่าย ละเลยต่อธรรมเนียมของภิกษุ จนถึงทำตนให้เป็นคนเลวทราม ฯ |
๖. | ภิกษุแม้ล่วงละเมิดพระวินัยแล้วไม่ต้องอาบัติ ได้รับยกเว้นทุกสิกขาบทได้แก่ภิกษุประเภทไหนบ้าง ? ได้แก่ ภิกษุเหล่านี้ ภิกษุบ้าคลั่งจนไม่มีสติสัมปชัญญะ , ภิกษุเพ้อจนไม่รู้สึกตัว ภิกษุกระสับกระส่าย เพราะมีเวทนากล้าจนถึงไม่มีสติ ฯ |
๗. | สิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ที่เรียกว่าอภิสมาจารแบ่งเป็น ๒ คือเป็นข้อห้าม ๑ เป็นข้ออนุญาต ๑ นั้น คืออย่างไร ? ที่เป็นข้อห้าม คือกิริยาบางอย่างหรือบริขารบางประเภทไม่เหมาะแก่สมณะสารูป จึงทรงห้ามไม่ให้กระทำ หรือใช้บริขารเช่นนั้น เช่นห้ามไม่ให้ไว้ผมยาว ไม่ให้ไว้หนวดเครายาว ไม่ให้ใช้บาตรไม้ เป็นต้น ที่เป็นข้ออนุญาต คือการประทานประโยชน์พิเศษแก่พระภิกษุ เช่นทรงอนุญาตวัสสิกสาฎกในฤดูฝน เป็นต้นฯ |
๑. | เปลือยกายอย่างไรต้องอาบัติถุลลัจจัย ? อย่างไรต้องอาบัติทุกกฏ ? เปลือยกายเป็นวัตรเอาอย่างเดียรถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯ เปลือยกายทำกิจแก่กัน เช่น ไหว้ รับไหว้ ทำบริกรรม ให้ของรับของและเปลือยกายในเวลาฉัน ในเวลาดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ |
๒. | ในกายบริหาร มีข้อปฏิบัติเกี่ยวกับหนวดและคิวไว้อย่างไร ? เกี่ยวกับหนวด มีข้อปฏิบัติไว้ว่า อย่าพึงไว้หนวดไว้เครา คือต้องโกนเสมอ ห้ามไม่ให้แต่งหนวดและห้ามไม่ให้ตัดหนวดด้วยกรรไกร เกี่ยวกับคิวไม่ได้วางหลักปฏิบัติไว้ แต่พระสงฆ์ไทยนิยมโกนพร้อมกับผม ฯ |
๓. | การผัดหน้า ไล้หน้า ทาหน้า ทรงห้ามและอนุญาตไว้ในกรณีใด ? ทรงห้ามในกรณีทา เพื่อให้ดูสวยงาม และ ทรงอนุญาตในกรณีทา เพื่อรักษา ฯ |
๔. | มีข้อกำหนดในการไว้ผมยาวของพระภิกษุอย่างไร ? ในการโกนผม ภิกษุใช้กรรไกรแทนมีดโกนได้หรือไม่ ? ไว้ได้เพียง ๒ เดือน หรือ ๒ นิ้ว เป็นอย่างยิ่ง ฯ ไม่ได้ เว้นไว้แต่อาพาธ ฯ |
๕. | ข้อว่า อย่าพึงนุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ นั้นมีอธิบายอย่างไร ? มีอธิบายว่า ห้ามนุ่งห่มเครื่องนุ่งห่มของคฤหัสถ์ เช่น กางเกง เสื้อ ผ้าโพก หมวก ผ้านุ่งผ้าห่มสีต่าง ๆ ชนิดต่าง ๆ และห้ามอาการนุ่งห่มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ของภิกษุ ฯ |
๑. | บริขาร ๘ มีอะไรบ้าง ? บริขาร ๘ มี ๑. สบง คือ ผ้านุ่ง ๒. จีวร คือ ผ้าห่ม ๓. สังฆาฎิ คือ ผ้าซ่อนหรือผ้าทาบ ๔. บาตร ๕. ประคดเอว ๖. เข็ม ๗. มีดโกน ๘. ธมกรกหรือผ้ากรองน้ำ ฯ |
๒. | บริขาร ๘ อย่างไหนจัดเป็นบริขารบริโภค อย่างไหนจัดเป็นบริขารอุปโภค ? ไตรจีวร บาตร ประคตเอว รวม ๕ อย่าง จัดเป็นบริขารบริโภค ฯ เข็ม มีดโกน และผ้ากรอกน้ำ จัดเป็นบริขารอุปโภค ฯ |
๓. | จีวรผืนหนึ่ง มีกำหนดจำนวนขัณฑ์ไว้อย่างไร ? ใน ๑ ขัณฑ์ประกอบด้วยอะไรบ้าง ? กำหนดจำนวนไว้ไม่น้อยกว่า ๕ ขัณฑ์ แต่ให้เป็นขัณฑ์คี่ คือ ๕, ๗, ๙, เป็นต้น ฯ ประกอบด้วยมณฑล อัฑฒมณฑล กุสิ อัฑฒกุสิ ฯ |
๔. | ภิกษุใช้เครื่องนุ่งห่มของคฤหัสถ์ปกปิดกายแทนจีวร จะผิดหรือไม่ อย่างไร ? อาจจะผิดหรือไม่ผิดแล้วแต่กรณี ในกรณีที่ไม่มีจีวร เช่นจีวรถูกไฟไหม้ ถูกโจรชิงไปหมด นุ่งห่มผ้าของคฤหัสถ์ได้ ห้ามมิให้เปลือยกาย ถ้าไม่ปกปิด ต้องอาบัติทุกกฏ แต่ถ้าไม่มีเหตุแล้วนุ่งห่มต้องอาบัติทุกกฏ ฯ |
๕. | บาตรที่ทรงอนุญาตให้ใช้มีกี่ชนิด และกี่ขนาด ? อะไรบ้าง ? มี ๒ ชนิด คือ บาตรดินเผา และ บาตรเหล็ก ฯ มี ๓ ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และ ขนาดเล็ก ฯ |
๖. | ผ้าสำหรับทำจีวรนุ่งห่มนั้น ทรงอนุญาตไว้กี่ชนิด ? อะไรบ้าง ? ทรงอนุญาตไว้ ๖ ชนิด ฯ คือ ๑. โขมะ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ๒. กัปปาสิกะ ผ้าทำด้วยฝ้าย ๓. โกเสยยะ ผ้าทำด้วยใยไหม ๔. กัมพละ ผ้าทำด้วยขนสัตว์ ยกเว้นผมและขนมนุษย์ ๕. สาณะ ผ้าทำด้วยเปลือกป่าน ๖. ภังคะ ผ้าที่ทำด้วยของ ๕ อย่างนั้น แต่อย่างใดอย่างหนึ่งปนกัน ฯ |
๑. | คำว่า ถือนิสัย หมายความว่าอย่างไร ? คำว่า นิสัย หมายความว่า ยอมตนอยู่ในความปกครองของพระเถระผู้มีคุณสมบัติควรปกครองตนได้ ยอมตนให้ท่านปกครอง พึ่งพิงพำนักอาศัยท่าน ฯ |
๒. | ภิกษุผู้เป็นนวกะจะต้องถือนิสัยเสมอไปหรือไม่ประการไร ? ต้องถือนิสัยเสมอไป แต่มีข้อยกเว้น ภิกษุผู้ยังไม่ตั้งลงเป็นหลักแหล่ง คือภิกษุเดินทาง ภิกษุผู้เป็นไข้ ภิกษุผู้พยาบาลผู้ได้รับขอของคนไข้เพื่อให้อยู่ ภิกษุผู้เข้าป่าเพื่อเจริญสมณธรรมชั่วคราว และกรณีที่ ในที่ใดหาท่านผู้ให้นิสัยมิได้ และมีเหตุขัดข้องที่จะไปอยู่ในที่อื่นไม่ได้ จะอยู่ในที่นั้นด้วยผูกใจว่า เมื่อใดมีท่านผู้ให้นิสัยได้มาอยู่ จักถือนิสัยในท่าน ก็ใช้ได้ ฯ |
๓. | นิสัยระงับ กับ นิสัยมุตตกะ มีอธิบายอย่างไร ? นิสัยระงับ หมายถึงการที่ภิกษุผู้ถือนิสัยขาดจากปกครอง เช่น อุปัชฌาย์มรณภาพ เป็นต้น นิสัยมุตตกะ หมายถึงภิกษุผู้ได้พรรษา ๕ แล้วและมีคุณสมบัติพอรักษาตนได้เมื่ออยู่ตามลำพัง ทรงอนุญาตให้พ้นจากนิสัย ฯ |
๔. | ภิกษุเช่นไรควรได้นิสัยมุตตกะ ? ภิกษุผู้ควรได้นิสัยมุตตกะ คือ ๑. เป็นผู้มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ สติ ๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล อาจาระ ความเห็นชอบ เคยได้ยินได้ฟังมามาก มีปัญญา ๓. รู้จักอาบัติ มิใช่อาบัติ อาบัติเบา อาบัติหนัก จำพระปาฏิโมกข์ได้แม่นยำทั้งมีพรรษาพ้น ๕ ฯ |
๕. | ในบาลีแสดงเหตุนิสสัยระงับจากอุปัชฌายะไว้ ๕ ประการ มีอะไรบ้าง ? มีอุปัชฌายะหลีกไปเสีย๑ สึกเสีย๑ ตายเสีย๑ ไปเข้ารีตเดียรถีย์เสีย๑ และสั่งบังคับ๑ ฯ |
๖. | จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้ อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริก นิสสัย ? อุปัชฌายะ เป็นชื่อเรียกภิกษุผู้รับให้พึ่งพิง แปลว่าผู้ฝึกสอนหรือผู้ดูแล สิทธิวิหาริก เป็นชื่อเรียกภิกษุผู้พึ่งพิง แปลว่าผู้อยู่ด้วย นิสสัย เป็นชื่อเรียกกิริยาที่พึ่งพิง ฯ |
๗. | คำขอนิสสัยอาจารย์ว่าอย่างไร ? ว่า อาจริโย เม ภนฺเต โหหิ อายสฺมโต นิสฺสาย วจฺฉามิ ฯ |
๘. | ตามนัยแห่งอรรถกถา อาจารย์มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ? อาจารย์มี ๔ ประเภท คือ ๑. ปัพพัชชาจารย์ อาจารย์ในบรรพชา ๒. อุปสัมปทาจารย์ อาจารย์ในอุปสมบท ๓. นิสสยาจารย์ อาจารย์ผู้ให้นิสสัย ๔. อุทเทสาจารย์ อาจารย์ผู้บอกธรรม ฯ |
๙. | สัทธิวิหาริก คือใคร ? อุปัชฌาย์ควรมีใจเอื้อเฟื้อสัทธิวิหาริกของตนอย่างไรบ้าง ? สัทธิวิหาริก คือ ภิกษุผู้พึ่งพิง ในการอุปสมบท ภิกษุถือภิกษุรูปใดเป็นอุปัชฌาย์ ก็เป็นสัทธิวิหาริกของภิกษุรูปนั้น ฯ อุปัชฌาย์ควรมีใจเอื้อเฟื้อสัทธิวิหาริกของตนอย่างนี้ คือ ๑. เอาใจใส่ในการศึกษาของสัทธิวิหาริก ๒. สงเคราะห์ด้วยบาตร จีวร และบริขารอื่น ๆ ถ้าของตนไม่มีก็ขวนขวายให้ ๓. ขวนขวายป้องกันหรือระงับความเสื่อมเสียอันจักเกิดมีหรือได้มีแล้ว แก่สัทธิวิหาริก ๔. เมื่อสัทธิวิหาริกอาพาธ ทำการพยาบาล ฯ |
๑. | วัตรอันภิกษุควรประพฤติในคำว่า วตฺตสมฺปนฺโน นั้นคืออะไรบ้าง ? ๑. กิจวัตร ว่าด้วยกิจอันควรทำ ๒. จริยาวัตร ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ ๓. วิธีวัตร ว่าด้วยแบบอย่าง ฯ |
๒. | วัตรคืออะไร ? อุปัชฌายวัตรและสัทธิวิหาริกวัตร ใครพึงทำแก่ใคร ? คือ แบบอย่างอันดีงามที่ ภิกษุควรประพฤติในกาลนั้นๆ ในที่นั้นๆ ในกิจนั้นๆ แก่บุคคลนั้น ๆ ฯ อุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกพึงทำแก่อุปัชฌาย์ ส่วน สัทธิวิหาริกวัตร อุปัชฌาย์พึงทำแก่สัทธิวิหาริก ฯ |
๓. | ภิกษุได้ชื่อว่า “กุลปสาทโก ผู้ยังตระกูลให้เลื่อมใส” เพราะมีปฏิปทาอย่างไร ? เพราะมีปฏิปทาอย่างนี้ คือเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระ ไม่ทอดตนเป็นคนสนิทของสกุลโดยฐานเป็นคนเลว และอีกอย่างหนึ่ง ไม่รุกรานตัดรอนเขา แสดงเมตตาจิตต่อเขาประพฤติพอดีพองาม ยังความเลื่อมใสนับถือของเขาให้เกิดในตน ฯ |
๔. | ภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ ไปสู่อาวาสอื่น พึงประพฤติอย่างไรจึงจะถูกธรรมเนียมตามพระวินัย ? พึงประพฤติดังนี้ ๑. ทำความเคารพในท่าน ๒. แสดงความเกรงใจเจ้าของถิ่น ๓. แสดงอาการสุภาพ ๔. แสดงอาการสนิทสนมกับเจ้าของถิ่น ๕. ถ้าจะอยู่ที่นั่น ควรประพฤติให้ถูกธรรมเนียมของเจ้าของถิ่น ๖. ถือเสนาสนะแล้วอย่าดูดาย เอาใจใส่ชำระปัดกวาดให้หมดจดจัดตั้งเครื่องเสนาสนะให้เป็นระเบียบ ฯ |
๕. | ภิกษุผู้ได้รับเสนาสนะของสงฆ์ให้เป็นที่อยู่อาศัย ควรเอาใจใส่รักษาเสนาสนะนั้นอย่างไร ? ควรเอาใจใส่รักษาดังนี้ ๑. ไม่ทำให้เปรอะเปื้อน ๒. ชำระให้สะอาด ๓. ระวังไม่ให้ชำรุด ๔. รักษาเครื่องเสนาสนะ ๕. ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ให้มีพร้อม ๖. ของใช้สำหรับเสนาสนะหนึ่งอย่านำไปใช้ที่อื่นให้กระจัดกระจาย ฯ |
๖. | คำว่า วัตถุเป็นอนามาส คืออะไร ? ภิกษุจับต้องวัตถุเป็นอนามาสเป็นอาบัติอะไร ? คือ สิ่งที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง ฯ ภิกษุจับต้องมาตุคาม เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย และทุกกฎ ตามประโยค จับต้องบัณเฑาะก์ด้วยความกำหนัดเป็นอาบัติถุลลัจจัย นอกนั้นเป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฎทั้งหมด ฯ |
๑. | คารวะ คืออะไร ? คือ กิริยาที่แสดงอาการอ่อนน้อมโดยสมควรแก่กาล สถานที่ กิจ และบุคคล ฯ |
๒. | การลุกยืนขึ้นรับ เป็นกิจที่ผู้น้อยพึงทำแก่ผู้ใหญ่ จะปฏิบัติอย่างไรจึงไม่ขัดต่อพระวินัย ? นั่งอยู่ในสำนักผู้ใหญ่ไม่ลุกรับผู้น้อยกว่าท่าน นั่งเข้าแถวในบ้าน เข้าประชุมสงฆ์ ในอารามไม่ลุกรับท่านผู้ใดผู้หนึ่ง ฯ |
๓. | ภิกษุอยู่ในกุฎีเดียวกันกับภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า ควรปฏิบัติตนอย่างไรจึงชื่อว่าแสดงความเคารพท่านตามพระวินัย ? ควรปฏิบัติตนอย่างนี้ คือ จะทำสิ่งใด ๆ ควรขออนุญาตท่านก่อน เช่น จะสอนธรรม จะอธิบายความ จะสาธยาย จะแสดงธรรม จะจุดจะดับไฟ จะเปิดจะปิดหน้าต่าง ห้ามมิให้ ทำตามอำเภอใจ ฯ |
๔. | ภิกษุเมื่อจะนั่งลงบนอาสนะ ทรงให้ปฏิบัติอย่างไรก่อน ? ที่ทรงให้ปฏิบัติอย่างนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ? ทรงให้พิจารณาก่อน อย่าผลุนผลันนั่งลงไป ฯ เพื่อว่าถ้ามีของอะไรวางอยู่บนนั้น จะทับหรือกระทบของนั้น ถ้าเป็นขันน้ำก็จะหก เสียมารยาท พึงตรวจดูด้วยนัยน์ตา หรือด้วยมือลูบก่อน ตามแต่จะรู้ได้ด้วยอย่างไร แล้วจึงค่อยนั่งลง ฯ |
๕. | กิริยาที่แสดงความอ่อนน้อมต่อกันและกันเป็นความดีของหมู่ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกาลเทศะ ในข้อนี้ควรงดเว้นในกรณีใดบ้าง ? ได้แก่ในเวลาดังต่อไปนี้ ๑. ในเวลาประพฤติวุฏฐานวิธี คืออยู่กรรม เพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสส ๒. ในเวลาถูกสงฆ์ทำอุกเขปนียกรรม ที่ถูกห้ามสมโภคและสังวาส ๓. ในเวลาเปลือยกาย ๔. ในเวลาเข้าบ้านหรือเดินอยู่ตามทาง ๕. ในเวลาอยู่ในที่มืดที่แลไม่เห็นกัน ๖. ในเวลาที่ท่านไม่รู้ คือนอนหลับหรือขลุกขลุ่ยอยู่ด้วยธุระอย่างหนึ่ง หรือส่งใจไปอื่น แม้ไหว้ ท่านก็คงไม่ใส่ใจ ๗. ในเวลาขบฉันอาหาร ๘. ในเวลาถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ฯ |
๑. | ดิถีที่กำหนดให้เข้าจำพรรษาในบาลีกล่าวไว้เท่าไร ? อะไรบ้าง ? กล่าวไว้ ๒ คือ ๑. ปุริมิกาวัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาต้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ๒. ปัจฉิมิกาวัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ฯ |
๒. | สัตตาหกรณียะและสัตตาหกาลิก มีอธิบายอย่างไร ? สัตตาหกรณียะ คือ กิจจำเป็นบางอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาไปพักแรมคืนที่อื่น แต่ต้องกลับมาภายใน ๗ วัน สัตตาหกาลิก คือ เภสัช ๕ ที่รับประเคนแล้วเก็บไว้บริโภคได้ ๗ วัน ฯ |
๓. | ธุระเป็นเหตุให้ไปค้างแรมที่อื่นด้วยสัตตาหกรณียะ ที่กล่าวไว้ในบาลีมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? มี ๔ อย่าง คือ ๑. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้ รู้เข้าแล้วไปเพื่อพยาบาล ๒. สหธรรมิกกระสันจะสึก รู้เข้าแล้วไปเพื่อระงับ ๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุด ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาระมาซ่อมแซม ๔. ทายกต้องการจะทำบุญ ส่งคนมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธา แม้กิจอื่นที่อนุโลมตามนี้ ท่านก็อนุญาต ฯ |
๔. | ภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนจนได้ปวารณา ย่อมได้อานิสงส์แห่งการจำพรรษาอะไรบ้าง ? ได้รับอานิสงส์ ๕ อย่าง คือ ๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์ ๒. เที่ยวจาริกไปไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับ ๓. ฉันคณโภชน์ และปรัมปรโภชน์ได้ ๔. เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ ทั้งได้โอกาสเพื่อกรานกฐิน และรับอานิสงส์ ๕ นั้นเพิ่มออกไปอีก ๔ เดือนตลอดเหมันตฤดู ฯ |
๕. | ในวัดหนึ่งมีภิกษุจาพรรษา ๔ รูป เมื่อถึงวันปวารณาออกพรรษาพึงทำอย่างไร ? ในวันมหาปวารณาพึงทำคณะปวารณา โดยรูปหนึ่งตั้งญัตติแล้วกล่าวปวารณาตามลาดับพรรษา ฯ |
๑. | ปวารณา คืออะไร ? มีพระพุทธานุญาตให้ทำในวันไหน ? คือ การบอกให้โอกาสแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อปรารถนาตักเตือนว่ากล่าวตนได้ ฯ มีพระพุทธานุญาตให้ทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันเต็ม ๓ เดือนแต่วันจำพรรษา ฯ |
๒. | กำลังสวดพระปาฏิโมกข์อยู่ มีภิกษุอื่นเข้ามา จะพึงปฏิบัติอย่างไร ? ปฏิบัติอย่างนี้ คือ ถ้าภิกษุผู้เข้ามาใหม่มีจำนวนมากกว่า ต้องเริ่มสวดใหม่ตั้งแต่ต้น ถ้ามีจำนวนเท่ากันหรือน้อยกว่า ส่วนที่สวดไปแล้วก็ให้เป็นอันสวดแล้ว ให้เธอผู้มาใหม่ฟังส่วนที่ยังเหลือต่อไป ฯ |
๓. | บุพพกรณ์และบุพพกิจ ในการทำอุโบสถสวดปาติโมกข์ ต่างกันอย่างไร ? ต่างกันอย่างนี้ บุพพกรณ์เป็นกิจที่ภิกษุพึงทำก่อนแต่ประชุมสงฆ์ มีกวาดบริเวณที่ประชุมเป็นต้น ส่วนบุพพกิจเป็นกิจที่ภิกษุพึงทำก่อนแต่สวดปาติโมกข์ มีนำปาริสุทธิของภิกษุผู้อาพาธมา เป็นต้น ฯ |
๔. | ในวัดหนึ่ง มีภิกษุอยู่กัน ๔ รูป ๓ รูป ๒ รูป ๑ รูป เมื่อถึงวันอุโบสถพึงปฏิบัติอย่างไร ? มีภิกษุ ๔ รูป พึงประชุมกันในโรงอุโบสถ สวดปาติโมกข์ มีภิกษุ ๓ รูป พึงประชุมกันทำปาริสุทธิอุโบสถ รูปหนึ่งสวดประกาศญัตติจบแล้วแต่ละรูปพึงบอกความบริสุทธิ์ของตน มีภิกษุ ๒ รูป ไม่ต้องตั้งญัตติ พึงบอกความบริสุทธิ์แก่กันและกัน มีภิกษุ ๑ รูป พึงอธิษฐานหรือมีภิกษุต่ำกว่า ๔ รูป จะไปทำสังฆอุโบสถกับสงฆ์ในอาวาสอื่น ก็ควร ฯ |
๕. | ทรงอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อเพราะเหตุฉุกเฉิน ๑๐ อย่าง จงบอกมาสัก ๕ อย่าง ๑. พระราชาเสด็จมา ๒. โจรมาปล้น ๓. เกิดไฟไหม้ ๔. น้ำหลากมา ๕. ผีเข้าสิงภิกษุ ฯ |
๑. | อุปปถกิริยา คืออะไร ? มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? คือการทำนอกรีตนอกรอยของสมณะ ฯ มี ๓ อย่าง ฯ คือ ๑. อนาจาร ได้แก่ ความประพฤติไม่ดีไม่งาม ๒. ปาปสมาจาร ได้แก่ ความประพฤติเลวทราม และ ๓. อเนสนา ได้แก่ ความหาเลี้ยงชีพไม่สมควร ฯ |
๒. | อเนสนาได้แก่อะไร ? มีอะไรบ้าง ? อเนสนา ได้แก่ กิริยาแสวงหาเลี้ยงชีพในทางไม่สมควร ฯ มี ๒ อย่าง คือ ๑. การแสวงหาเป็นโลกวัชชะ มีโทษทางโลก ๒. การแสวงหาเป็นปัณณัตติวัชชะ มีโทษทางพระบัญญัติ ฯ |
๓. | อนาจาร หมายถึงอะไร ? เล่นอย่างไรบ้าง จัดเป็นอนาจาร ? อนาจาร หมายถึง ความประพฤติไม่ดีไม่งาม และการเล่นมีประการต่างๆ ฯ เล่นอย่างเด็ก เล่นคะนอง เล่นพนัน เล่นปู้ยี่ปู้ยำ เล่นอึงคะนึง จัดเป็นอนาจาร ฯ |
๔. | ภิกษุได้ชื่อว่า “กุลทูสโก ผู้ประทุษร้ายสกุล” เพราะประพฤติอย่างไร ? เพราะประพฤติให้เขาเสียศรัทธาเลื่อมใส คือ เป็นผู้ประจบเขาด้วยกิริยาทำตนอย่างคฤหัสถ์ ยอมตนให้เขาใช้สอย หรือด้วยอาการ เอาเปรียบโดยเชิงให้สิ่งของเล็กน้อยด้วยหวังได้มาก ฯ |
๕. | ภิกษุผู้ได้ชื่อว่าโคจรสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยโคจรเพราะปฏิบัติอย่างไร ? เพราะเว้นอโคจร ๖ จะไปหาใครหรือจะไปที่ไหน เลือกบุคคล เลือกสถานอันสมควร ไปเป็นกิจลักษณะในเวลาอันควร ไม่ไปพรำเพรื่อ กลับในเวลาประพฤติตนไม่ให้เป็นที่รังเกียจของเพื่อนสหธรรมิกเพราะการไปเที่ยว ฯ |
๑. | กาลิก ๔ ได้แก่อะไรบ้าง ? โภชนะ ๕ เภสัช จัดเป็นกาลิกอะไร ? กาลิก ๔ ได้แก่ ยาวกาลิก คือ ของที่บริโภคได้ชั่วคราว ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง ยามกาลิก คือ ของที่บริโภคได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง สัตตาหกาลิก คือ ของที่บริโภคได้ในระยะ ๗ วัน ยาวชีวิก คือ ของที่บริโภคได้ตลอดชีวิต ฯ โภชนะ ๕ จัดเป็น ยาวกาลิก เภสัช จัดเป็น สัตตาหกาลิก ฯ |
๒. | ยาวกาลิกกับยาวชีวิกได้แก่กาลิกเช่นไร ? ยาวกาลิก ได้แก่ของที่ให้บริโภคได้ชั่วคราว ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ยาวชีวิก ได้แก่ของที่ให้บริโภคได้เสมอไป ไม่มีจำกัดกาล ฯ |
๓. | กาลิกระคนกันมีกฎเกณฑ์กำหนดอายุไว้อย่างไร ? จงยกตัวอย่าง กฎเกณฑ์กำหนดอายุตามกาลิกที่มีอายุน้อยที่สุด ฯ เช่น ยาผง เป็นยาวชีวิก คลุกกับน้ำผึ้งที่เป็นสัตตาหกาลิก ต้องถืออายุ ๗ วัน เป็นเกณฑ์ ฯ |
๔. | คำว่า อันโตวุฏฐะ อันโตปักกะ สามปักกะ หมายถึงอะไร ? อันโตวุฏฐะ หมายถึง ยาวกาลิกที่ภิกษุเก็บไว้ในที่อยู่ของตน ฯ อันโตปักกะ หมายถึง ยาวกาลิกที่ภิกษุหุงต้มภายใน (ที่อยู่ของตน) ฯ สามปักกะ หมายถึง ยาวกาลิกที่ภิกษุทำให้สุกเอง ฯ |
๕. | เภสัช ๕ มีอะไรบ้าง จัดเป็นกาลิกอะไร ? เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ฯ จัดเป็นสัตตาหกาลิก ฯ |
ดีมากครับนักธรรมตรีเข้าหลายข้อครับ
ตอบลบ