อ่านบาลีว่า:
สุ-โข, ปุน-ยัด-สะ, อุด-จะ-โย
ตัวอย่างแต่งกระทู้ธรรมชั้นตรี
อ่านแนวนำมาเขียนอธิบาย
สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย
หมั่นขยันทำความดี ก่อเกิดความสุข
คำว่า บุญ คือ สภาวะที่เป็นสุข เป็นสภาวะที่ชำระจิตใจของคนให้สะอาดจากบาป เมื่อไม่มีบาปอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ จิตใจก็เป็นสุข
เหตุแห่งบุญนั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑) ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน
๒) สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓) ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
บุญนั้นเราสามารถทำได้เรื่อยๆ ทำได้บ่อยๆ ทำได้มากเท่าที่อยากจะทำและมีกำลังทำ และเมื่อทำมากขึ้นๆ บุญก็เพิ่มมากขึ้นๆ เช่นเดียวกัน เมื่อบุญมากขึ้นเท่าไร ความสุขอัน เกิดจากบุญก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น จึงควรสั่งสมบุญเอาไว้ให้มากๆ เท่าที่จะทำได
การสั่งสมบุญ คืออย่างไร
การสั่งสมบุญ คือ การหมั่นประพฤติปฏิบัติตนให้ดีงาม ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ท่านแบ่งออกเป็น ๓ อย่างคือ
๑. การสั่งสมบุญด้วยการให้ทาน เช่นการแบ่งปันสิ่งของที่เหลือกินเหลือใช้แก่คนที่ขาดแค้น หรือคนอื่นที่เขาต้องการ ถือว่าเป็นการลดความเห็นแก่ตัว
๒. การสั่งสมบุญด้วยการรักษาศีล ทำตัวให้มีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมือง และสุดท้าย
๓. การสั่งสมบุญด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ฝึกอบรมจิตใจให้สูงขึ้น ให้สะอาดปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย เป็นต้น
เมื่อสั่งสมบุญแล้วจะนำสุขมาให้อย่างไร
สุขจากการให้ทาน คือย่อมทำให้ตนเองและคนอื่นอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ต่างคนต่างเห็นอกเห็นใจกันช่วยเหลือกัน
สุขจากการรักษาศีล คืออยู่อย่างไม่ต้องระแวงภัยและภยันอัตรายจากคนอื่น เพราะทุกคนมีศีล สังคมมีระเบียบวินัย
สุขจากการภาวนา คือจิตใจของคนในสังคมสะอาดผ่องใส ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะจิตใจของคนในสังคมสูงขึ้น มีปัญญา แล้วพัฒนาตนให้เป็นผู้เจริญทั้งภายนอกและภายในจิตใจ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปบุคคลสั่งสมบุญครบบริบูรณ์ทั้ง ๓ ประการนี้ย่อมจะประสบแต่ความสุข ชีวิตก็มีแต่เจริญรุ่งเรือง อยู่ในสังคมโดยไม่ต้องหวาดระแวงภัยอันจะมีมาถึงตัว และเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติภพเป็นที่อยู่
ขุททกนิกาย ธรรมบท
ตัวย่อสุภาษิต:
ขุ.ธ. ๒๕/๓๐.