เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นโท - วิชาธรรม [พระเณร]
ดาวน์โหลด หรือเปิดอ่านแบบ PDF
๑. | ในอริยบุคคล ๒ พระเสขะผู้ยังต้องศึกษา คือศึกษาเรื่องอะไร ? คือศึกษา ในอธิสีล ในอธิจิต และในอธิปัญญา อีกอย่างหนึ่งหมายถึง ต้องศึกษาและต้องปฏิบัติเพื่อมรรคผลเบื้องสูงขึ้นไป ฯ |
๒. | ในอริยบุคคล ๒ ชื่อว่า พระอเสขะ เพราะอะไร ? เพราะเสร็จกิจอันจะต้องทำจะต้องศึกษาแล้ว ฯ |
๓. | พระอริยบุคคล ๔ ได้แก่ใครบ้าง ? พระโสดาบันละสังโยชน์อะไรได้บ้าง ? ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ฯ พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ฯ |
๔. | อริยบุคคล ๘ ได้แก่ใครบ้าง ? จัดเข้าในพระเสขะและพระอเสขะได้อย่างไร ? อริยบุคคล ๘ ได้แก่ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล ๑ ฯ จัดเข้าได้อย่างนี้ อริยบุคคล ๗ ประเภทแรก เรียกว่า พระเสขะ และอริยบุคคล ๑ ประเภทหลัง เรียกว่า พระอเสขะ ฯ |
๑. | สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน มุ่งผลแห่งการปฏิบัติอย่างไร ? สมถกรรมฐานมุ่งผลคือความสงบใจ ส่วนวิปัสสนากรรมฐานมุ่งผลคือความเรืองปัญญา ฯ |
๒. | การพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยความเป็นไตรลักษณ์จัดเป็นกัมมัฏฐานอะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ? จัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ มีประโยชน์ คือทำให้รู้จักสภาพที่เป็นจริงแห่งสังขารทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ฯ |
๓. | ตจปัญจกกัมมัฏฐาน มีอะไรบ้าง ? เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอย่างไร ? เป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานหรือของวิปัสสนากัมมัฏฐาน ? มี เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน และ ตโจ หนัง ฯ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มูลกัมมัฏฐาน ฯ เป็นได้ทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานฯ |
๑. | สังขตธรรม คืออะไร ? มีลักษณะอย่างไร ? คือธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง ฯ มีลักษณะ คือ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนในท่ามกลางและมีความดับไปในที่สุด ฯ |
๒. | สังขตธรรม และ อสังขตธรรม ต่างกันอย่างไร ? สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา เป็นสังขตธรรม เพราะมีลักษณะอย่างไร ? ต่างกันอย่างนี้ สัขตธรรม เป็นธรรมอันมีปัจจัยปรุงแต่ง ตกอยู่ในสัขตลักษณะ ๓ ส่วน อสังขตธรรม เป็น ธรรมอันมิได้ปรุงแต่ง ไม่ตกอยู่ในสังขตลักษณะ ๓ เพราะมีการเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้นปรากฏ มีความดับเป็นที่สุดปรากฏ ฯ |
๓. | ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความดับไป เป็นลักษณะของธรรมอะไร ? สัตว์บุคคลมีลักษณะเช่นนั้นหรือไม่ ? จงอธิบาย เป็นลักษณะของสังขตธรรม ฯ มีลักษณะเช่นนั้น คือ เมื่อสัตว์บุคคลเกิดมาแล้ว ก็เป็นความเกิดขึ้น ต่อมาก็เจริญเติบโตผ่านวัยทั้ง ๓ ก็เป็นความตั้งอยู่ เมื่อตาย ก็เป็นความดับไป ฯ |
๑. | ญาณ ๓ ที่เป็นไปในอริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ? ญาณ ๓ ที่เป็นเป็นไปในอริยสัจ ๔ มี ๑. สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ ๒. กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ ๓. กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว ฯ |
๒. | ญาณ ๓ ที่เป็นไปในทุกขนิโรธสัจมีอธิบายอย่างไร ? มีอธิบายว่า ๑. ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขนิโรธสัจ จัดเป็นสัจจญาณ ๒. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขนิโรธสัจเป็นสภาพที่ควรทำให้แจ้ง จัดเป็นกิจจญาณ ๓. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขนิโรธสัจที่ควรทำให้แจ้ง ๆ แล้ว จัดเป็นกตญาณ ฯ |
๓. | กิจจญาณ คืออะไร ? เป็นไปในอริยสัจ ๔ อย่างไร ? คือ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ ฯ เป็นไปในอริยสัจ ๔ คือ ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกข์เป็นธรรมชาติที่ควรกำหนดรู้, ทุกขสมุทัยเป็นธรรมชาติที่ควรละ, ทุกขนิโรธเป็นธรรมชาติที่ควรทำให้แจ้ง, ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นธรรมชาติที่ควรทำให้เกิด ฯ |
๔. | กตญาณ เป็นไปในอริยสัจ ๔ อย่างไร ? เป็นไปในอริยสัจ ๔ คือ ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ ได้กำหนดรู้แล้ว ทุกขสมุทัยที่ควรละ ได้ละแล้ว ทุกขนิโรธที่ควรทำให้แจ้ง ได้ทำให้แจ้งแล้ว ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาที่ควรเจริญ ได้เจริญแล้ว ฯ |
๑. | กิเลส กรรม วิบาก ได้ชื่อว่า วัฏฏะ เพราะเหตุไร ? จะตัดให้ขาดได้ด้วยอะไร ? เพราะว่า วน คือหมุนเวียนกันไป กล่าวคือ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบากกิเลสก็เกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ ฯ จะตัดให้ขาดต้องบรรลุพระอรหันต์ ฯ |
๒. | ไตรวัฏฏะ อันได้แก่ กิเลสวัฏฏะ กัมมวัฏฏะ วิปากวัฏฏะ มีสภาพเกี่ยวเนื่องวนกันไปอย่างไร ? ตัดให้ขาดได้ด้วยอะไร ? คือ กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสก็เกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ ฯ ได้ด้วยอรหัตตมรรคญาณ ฯ |
๑. | มาร ๕ คืออะไรบ้าง ? กิเลสได้ชื่อว่ามารเพราะเหตุไร ? คือ ปัญจขันธ์ กิเลส อภิสังขาร มรณะ และ เทวบุตร ฯ ได้ชื่อว่ามาร เพราะผู้ที่ตกอยู่ในอานาจแห่งกิเลสแล้ว กิเลสย่อมผูกรัดไว้บ้าง ย่อมทำให้เสียคนบ้าง ฯ |
๒. | มัจจุมารได้แก่อะไร ? ได้ชื่อว่าเป็นมารเพราะเหตุไร ? ได้แก่ความตาย ฯ ชื่อว่าเป็นมาร เพราะเมื่อความตายเกิดขึ้น บุคคลย่อมหมดโอกาสทีจะทำประโยชน์ใด ๆ อีกต่อไป ฯ |
๓. | ปัญจขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมาร มีอธิบายว่าอย่างไร ? มีอธิบายว่า ปัญจขันธ์นั้น บางทีทำความลำบาก บางทีทำให้เกิดความเบื่อหน่าย จนถึงฆ่าตัวตายก็มี ฯ |
๔. | ในพระพุทธศาสนาพูดเรื่องมารไว้มาก อยากทราบว่า คำว่า มาร หมายถึงอะไร ? หมายถึง สิ่งที่ล้างผลาญทำลายความดี ชักนำให้ทำบาปกรรม ปิดกั้นไม่ให้ทำความดี จนถึงปิดกั้นไม่ให้เข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ฯ |
๕. | มาร คืออะไร ? มีอะไรบ้าง ? อกุศลกรรมจัดเป็นมารประเภทใด ? มาร คือ สิ่งที่ล้างผลาญทำลายความดี ชักนำให้ทำบาปกรรม ปิดกั้นไม่ให้ทำความดี จนถึงปิดกั้นไม่ให้เข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ฯ มีดังนี้ ๑. ขันธมาร มารคือปัญจขันธ์ ๒. กิเลสมาร มารคือกิเลส ๓. อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร ๔. มัจจุมาร มารคือมรณะ ๕. เทวปุตตมาร มารคือเทวบุตร อกุศลกรรมจัดเป็นมารประเภท อภิสังขารมาร ฯ |
๑. | ในธรรมคุณบทว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว” พระธรรมนั้น หมายถึงอะไร ? พระธรรม หมายถึง ปริยัติธรรม กับ ปฏิเวธธรรม (หรือโดยพิสดารได้แก่ สัทธรรม ๑๐ คือ โลกุตรธรรม ๙ กับ ปริยัติธรรม ๑) ฯ |
๑. | พระพุทธคุณ บทว่า อรหํ แปลว่าอย่างไรได้บ้าง ? แปลได้อย่างนี้ คือ เป็นผู้เว้นไกลจากกิเลสและบาปกรรม เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนเขา เป็นผู้ควรรับความเคารพนับถือของเขา เป็นผู้ไม่มีข้อลับ ไม่ได้ทำความเสียหายอันจะพึงซ่อนเพื่อมิให้คนอื่นรู้ ฯ |
๒. | พระพุทธคุณ บทว่า อรหํ ที่แปลว่า เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักรนั้น คือ ได้แก่อะไร ? ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม ฯ |
๓. | พุทธคุณ ๒ ก็มี พุทธคุณ ๓ ก็มี พุทธคุณ ๙ ก็มี จงแจกแจงแต่ละอย่างว่ามีอะไรบ้าง ? พุทธคุณ ๒ คือ อัตตสมบัติ และ ปรหิตปฏิบัติ พุทธคุณ ๓ คือ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ พุทธคุณ ๙ คือ อรหํ, สมฺมาสมฺพุทฺโธ, วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน, สุคโต,โลกวิทู, อนุตฺตโร ปุริสธมฺมสารถิ, สตฺถา เทวมนุสฺสานํ, พุทฺโธ, ภควา ฯ |
๔. | พระพุทธคุณ ๙ บท คืออะไรบ้าง บทไหนจัดเป็นอัตตหิตสมบัติและปรหิตปฏิบัติ ? คือ อรหํ, สมฺมาสมฺพุทฺโธ, วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน, สุคโต, โลกวิทู, อนุตฺตโรปุริสธมฺมสารถิ, สตฺถา เทวมนุสฺสานํ, พุทฺโธ, ภควา ฯ ๕ บทเบื้องต้นเป็นอัตตหิตสมบัติ ๔ บทเบื้องปลายเป็นปรหิตปฏิบัติ ฯ |
๕. | พระพุทธคุณบทว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ คำว่า “บุรุษที่ควรฝึกได้” นั้น หมายถึงบุคคลเช่นไร ? หมายถึงบุคคลผู้มีอุปนิสัยที่อาจฝึกให้ดีได้และตั้งใจจะเข้าใจพระธรรมเทศนา แม้ฟังด้วยตั้งใจจะจับข้อบกพร่องขึ้นยกโทษเช่นเดียรถีย์ก็ตาม ฯ |
๑. | คำว่า พระสงฆ์ ในบทสังฆคุณนั้น ท่านประสงค์บุคคลเช่นไร ? จำแนกมาดู ท่านประสงค์พระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล ซึ่งล้วนแต่ท่านผู้ที่ตั้งอยู่ในมรรคผลทั้งสิ้น คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล คู่ ๑ พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล คู่ ๑ พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล คู่ ๑ พระอรหัตมรรค พระอรหัตผล คู่ ๑ ฯ |
๒. | คำว่า “อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง” คือปฏิบัติเช่นไร ? คือ ไม่ปฏิบัติลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ประพฤติตรงต่อพระศาสดาและเพื่อนสาวกด้วยกัน ไม่อำพรางความในใจ ฯ |
๓. | พระสงฆ์ ในบทสังฆคุณ ๙ ท่านหมายถึงพระสงฆ์เช่นไร ? หมายถึง พระสาวกผู้ได้บรรลุธรรมวิเศษตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเป็นต้น ฯ |
๔. | สังฆคุณ ๙ มีอะไรบ้าง ? จะย่นให้เหลือเพียง ๒ ได้อย่างไร ? สังฆคุณ ๙ มีดังนี้ ๑. สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ๒. อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว ๓. ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม ๔. สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร ๕. อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของคำนับ ๖. ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ ๗. ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรของทำบุญ ๘. อญฺชลีกรณีโย เป็นผู้ควรทำอัญชลี [ประณมมือไหว้] ๙. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ ข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ เป็นอัตตหิตคุณ คือคุณเกื้อกูลแก่ตนเอง ข้อ ๕ ถึงข้อ ๙ เป็นปรหิตคุณ คือคุณเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ฯ |
๑. | ในกรรม ๑๒ อุปัตถัมภกกรรม กับ อุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ? อุปัตถัมภกกรรม ทำหน้าที่สนับสนุนผลแห่งชนกกรรม ส่วน อุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่บีบคั้นผลแห่งชนกกรรม |
๒. | ครุกรรม คืออะไร ? อนันตริยกรรมกับสมาบัติ ๘ เป็นครุกรรมฝ่ายกุศลหรืออกุศล ? คือ กรรมหนัก ฯ อนันตริยกรรม เป็นครุกรรมฝ่ายอกุศล ส่วนสมาบัติ ๘ เป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ฯ |
๓. | จงให้ความหมายของคำว่า อโหสิกรรม และ กตัตตากรรม ว่าอย่างไร ? อโหสิกรรม คือกรรมให้ผลสำเร็จแล้ว เป็นกรรมล่วงแล้วเลิกให้ผลเปรียบเหมือนพืชสิ้นยางแล้ว เพาะไม่ขึ้น ส่วน กตัตตากรรม คือกรรมสักว่าทำได้แก่กรรมอันทำด้วยไม่จงใจ ฯ |
๔. | กรรมที่บุคคลทำไว้ ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง ? ทำหน้าที่ คือ ๑. แต่ง (วิบาก) ให้เกิด เรียกว่า ชนกกรรม ๒. สนับสนุน (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปัตถัมภกกรรม ๓. บีบคั้น (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปปีฬกกรรม ๔. ตัดรอน (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปฆาตกกรรม ฯ |
๑. | ธุดงค์ มีกี่หมวด ? หมวดไหนว่าด้วยเรื่องอะไร ? มี ๔ หมวด ฯ ดังนี้ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องจีวร หมวดที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องบิณฑบาต หมวดที่ ๓ ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ หมวดที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องความเพียร ฯ |
๒. | ธุดงค์ คืออะไร ? ข้อใดของปัจจัย ๔ ไม่มีในธุดงค์ ? คือ วัตตจริยาพิเศษอย่างหนึ่ง บัญญัติขึ้นด้วยหมายจะให้เป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ ข้อ ยารักษาโรค ไม่มีในธุดงค์ ฯ |
๓. | การสมาทานธุดงค์ฉันมื้อเดียวเป็นวัตรที่เรียกว่า “ฉันเอกา” จัดเข้าในธุดงค์ข้อไหน ? จัดเข้าในข้อ เอกาสนิกังคะ คือ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร ฯ |
๔. | ธุดงค์ท่านบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ? ธุดงค์ที่ภิกษุถือได้มีกำหนดเฉพาะกาล คือข้อใด ? เพราะเหตุใด ฯ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ คือข้อ รุกขมูลิกังคะ และ อัพโภกาสิกังคะ ธุดงค์ ๒ ข้อนี้ภิกษุถือได้เฉพาะกาลนอกพรรษา ฯ เพราะในพรรษาภิกษุต้องถือเสนาสนะเป็นที่อยู่อาศัยประจำ ตามพระวินัยนิยม ฯ |