เก็งข้อสอบวิชาธรรมวิภาค นักธรรมชั้นตรี - [พระเณร]
๑. | สติ แปลว่าอะไร ? เพราะอะไรจึงชื่อว่ามีอุปการะมาก ? สติ แปลว่า ความระลึกได้ ฯ เพราะอุดหนุนให้สําเร็จกิจในทางที่ดี ฯ |
๒. | คนที่ทำอะไรมักพลั้งพลาด เพราะขาดธรรมอะไร ? เพราะขาดสติ ความระลึกได้ก่อนแต่จะทำ และขาดสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในขณะทำ ฯ |
๓. | ธรรมมีอุปการะมากมีอะไรบ้าง ? ที่ว่ามีอุปการะมากนั้นเพราะเหตุไร ? มี สติ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ฯ เพราะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการทำกิจการงานใด ๆ และเป็นอุปการะ ให้ธรรมเหล่าอื่นเกิดขึ้น ฯ |
๑. | ธรรมคุ้มครองโลกมีอะไรบ้าง ? ธรรมข้อนี้จะคุ้มครองโลกได้อย่าง ? มี ๑.หิริ ความละอายแก่ใจ และ ๒.โอตตัปปะ ความเกรงกลัว ธรรมข้อนี้จะคุ้มโลกได้ คือ หากชาวโลกมีธรรมข้อนี้ตั้งมั่นอยู่ในใจแล้วก็จะไม่เบียดเบียนกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รวมถึงช่วยแก้วิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย ฯ |
๒. | หิริ และ โอตตัปปะ ได้ชื่อว่า ธรรมเป็นโลกบาล เพราะเหตุไร ? เพราะเป็นคุณธรรมทำบุคคลให้รังเกียจความชั่ว และเกรงกลัวต่อผลของความชั่ว ต่อบาปทุจริต ไม่กล้าทำความชั่วทั้งในที่ลับ และที่แจ้ง ฯ |
๓. | หิริ กับ โอตตัปปะ ต่างกันอย่างไร ? ต่างกันอย่างนี้คือ หิริ คือความละอายใจตนเองที่จะประพฤติชั่ว ส่วนโอตตัปปะ คือความเกรงกลัวผลของความชั่วที่ตนจะได้รับ ฯ |
๔. | การที่บุคคลพบงูพิษแล้วสะดุ้งกลัวว่าจะถูกกัดตาย จัดเป็นโอตตัปปะได้หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? ไม่ได้ ฯ เพราะไม่ใช่ความเกรงกลัวต่อบาป ฯ |
๕. | ธรรมคุ้มครองโลกมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ? มี ๒ อย่าง ฯ คือ ๑) หิริ ความละอายต่อบาป ๒) โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลบาป ฯ |
๑. | บุคคลมีกาย วาจา ใจงดงาม เพราะปฏิบัติธรรม ? เพราะปฏิบัติธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่าง คือ ๑. ขันติ ความอดทน และ ๒. โสรัจจะ ความเสงี่ยม ฯ |
๒. | ขันติ กับ โสรัจจะ เป็นธรรมทำให้งามได้อย่างไร ? คือ ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยธรรมทั้ง ๒ นี้ ย่อมมีใจหนักแน่นไม่แสดงความวิการออกมาให้ปรากฏ แม้จะประสบความดีใจ เสียใจ ก็อดกลั้นได้ รักษากาย วาจา ใจให้สุภาพ สงบเสงี่ยมเป็นปกติไว้ได้ จึงทำให้งาม ฯ |
๓. | คนที่มีน้ำใจงดงาม และมีมารยาทงาม เพราะอาศัยธรรมอะไร เป็นหลักประพฤติ ? เพราะอาศัยธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่าง คือ ขันติ ความอดทน และโสรัจจะ ความเสงี่ยม เป็นหลักประพฤติปฏิบัติ ฯ |
๔. | ในทางโลก ดูคนงามที่หน้าตา ส่วนในทางพระพุทธศาสนา ดูคนงามที่ไหน ? ในทางพระพุทธศาสนา ดูคนงามกันที่มีคุณธรรมอันทำให้งาม ๒ ประการ คือ ขันติ ความอดทน และโสรัจจะ ความสงบเสงี่ยม ฯ |
๑. | เราจะทราบได้อย่างไรว่า คนไหนดี คนไหนไม่ดี มีอะไรเป็นเครื่องหมายรู้ ? คือ คนไหนมีความกตัญญูกตเวที รู้อุปการะที่คนอื่นทำและตอบแทนท่านในโอกาสอันควร เรารู้ได้ว่าคนนั้นเป็นคนดี ส่วนคนไหนลบหลู่บุญคุณท่าน ไม่คิดตอบแทนท่าน เรารู้ได้ว่าคนนั้นเป็นคนไม่ดี ฯ |
๒. | บุพพการีและกตัญญูกตเวที ได้แก่บุคคลเช่นไร ? จงยกตัวอย่างมาสัก ๓ คู่ บุพพการี ได้แก่บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน ส่วนกตัญญูกตเวที ได้แก่บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและทำตอบแทน คู่ที่ ๑ มารดาบิดากับบุตรธิดา คู่ที่ ๒ ครูอาจารย์กับศิษย์ คู่ที่ ๓ พระราชากับราษฎร คู่ที่ ๔ พระพุทธเจ้ากับพุทธบริษัท ฯ (เวลาตอบให้ตอบเพียง ๓ คู่) |
๓. | ในโลกนี้ มีบุคคลประเภทใดบ้างที่พระพุทธศาสนาสอนว่าหาได้ยาก ? มี ๒ ประเภท คือ ๑) บุพพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน ๒) กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วตอบแทนท่าน ฯ |
๑. | พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ชื่อว่ารัตนะ เพราะเหตุไร ? เพราะเป็นของมีคุณค่าและหาได้ยาก เหมือนเพชรนิลจินดามีค่ามาก นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ ฯ |
๒. | พระรัตนตรัย กับ ไตรสรณคมน์ เป็นอย่างเดียวกัน หรือต่างกันอย่างไร ? มีความต่างกันอย่างนี้ คือพระรัตนตรัย ได้แก่หมวด ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วน ไตรสรณคมน์ ได้แก่การถึง (เข้าถึง) พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ จัดเป็นไตรสรณคมน์ ฯ |
๓. | คำว่า “ที่ชั่ว” ในความหมายของรัตนะที่ ๒ คือสถานที่เช่นไร ? หมายถึงที่ชั่วภพนี้ เช่น ทุกข์ยาก เดือดร้อนต่างๆ ตลอดจนถึงเรือนจำ และที่ชั่วในภพหน้าได้แก่อบายภูมิ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ฯ |
๔. | รัตนะ ๓ นั้น มีคุณอย่างไร ? รัตนะ ๓ มีคุณ อย่างนี้คือ ๑. พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม ๒. พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ๓. พระสงฆ์ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม ฯ |
๕. | รัตนะ ๓ อย่าง คืออะไรบ้าง ? รัตนะที่ ๒ มีคุณอย่างไร ? รัตนะ ๓ อย่าง คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ฯ คุณของรัตนะที่ ๒ คือ พระธรรม คือรักษาผู้ปฏิบัติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ฯ |
๑. | เห็นผิดจากคลองธรรม คือเห็นอย่างไร ? จัดเข้าในทุจริตข้อไหน ? เห็นผิดจากคลองธรรม คือเห็นว่า บุญบาปไม่มี บิดามารดา ไม่มีพระคุณ เป็นต้น ฯ จัดเข้าในมโนทุจริต ฯ |
๒. | ทุจริต คืออะไร ? มีเท่าไร ? อะไรบ้าง ? อย่างไหนให้ผลเสียหายที่สุด ? คือ การประพฤติชั่ว มี ๓ อย่าง คือ ๑. กายทุจริต การประพฤติชั่วทางกาย ๒. วจีทุจริต การประพฤติชั่วทางวาจา ๓. มโนทุจริต การประพฤติชั่วทางใจ มโนทุจริต เป็นความเสียหายร้ายแรงที่สุด เพราะคนเรามีใจเป็นสำคัญที่สุด เมื่อใจชั่วแล้ว การทำ การพูด ก็ชั่วตามไปด้วย เมื่อใจดีการทำก็ดีตามไปด้วย ฯ |
๓. | ความเห็นว่าคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์ไม่มี บุญบาปก็ไม่มี จัดเป็นทุจริตข้อไหน ? จัดเป็นมโนทุจริต เพราะว่ามีความเห็นผิดจากคลองธรรม ฯ |
๔. | ทุจริต คืออะไร ? พูดใส่ร้ายผู้อื่น จัดเข้าในทุจริตข้อไหน ? คือ ประพฤติชั่วด้วย กาย วาจา ใจ ฯ จัดเข้าใน วจีทุจริต ฯ |
๑. | รากเหง้าของอกุศลเรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ? เพราะเหตุใดจึงควรละเสีย ? เรียกว่า อกุศลมูล ฯ มี ๑.โลภะ อยากได้ของเขา ๒.โทสะ คิดประทุษร้ายเขา ๓.โมหะ หลงไม่รู้จริง ฯ เหตุที่ควรละ เพราะว่าเมื่ออกุศลมูลเหล่านี้มีอยู่ อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น ฯ |
๒. | อกุศลมูล ๓ จะรู้ได้อย่างไรว่า มันเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรทำอย่างไร ? จะรู้ได้อย่างนี้ คือ เมื่อเกิดความอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน โดยทางที่ไม่ชอบนั่นคือ โลภะเกิด, เมื่อคิดประทุษร้ายหรือขัดใจต้องการทำลายล้างผลาญผู้ที่ตนไม่ชอบให้ถึงความพินาศ นั่นคือโทสะเกิด,และเมื่อโลภะเกิด เมื่อโทสะก็ดีเกิดขึ้นคราวใด โมหะย่อมเกิดขึ้นคราวนั้นด้วย และเมื่ออกุศลมูลเกิดขึ้นแล้วควรละเสีย ฯ |
๓. | คนเราจะประพฤติดีหรือประพฤติชั่วมีมูลเหตุมาจากอะไร ? คนประพฤติดีมีมูลเหตุมาจากอโลภะ อโทสะ อโมหะ ส่วนคนประพฤติชั่วมีมูลเหตุมาจากโลภะ โทสะ โมหะ ฯ |
๑. | ผู้ที่ทำงานไม่สำเร็จผลตามที่มุ่งหมาย เพราะขาดคุณธรรมอะไรบ้าง ? เพราะขาดอิทธิบาท คือ คุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง คือ ๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น ๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ ๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น ฯ |
๒. | นักเรียนผู้ต้องการจะเรียนหนังสือให้ได้ผลดี จะนำอิทธิบาทมาใช้อย่างไร ? ในเบื้องต้น ต้องสร้างฉันทะคือความพอใจในการศึกษาเล่าเรียนก่อน เมื่อมีความพอใจ จะเป็นเหตุให้ขยันศึกษาหาความรู้ที่เรียกว่าวิริยะและเกิดความใฝ่ใจใคร่รู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ที่เรียกว่าจิตตะ และเมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ต้องนำความรู้นั้นมาใคร่ครวญพิจารณาให้เข้าใจเหตุและผลอย่างถูกต้องที่เรียกว่า วิมังสา ดั่งนี้ก็จะประสบผลสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนได้ ฯ |
๑. | เมื่อเพื่อนร่วมงานได้เลื่อนตำแหน่ง ไม่คิดริษยา พลอยยินดีกับเขาด้วย ชื่อว่าปฏิบัติตามพรหมวิหารธรรมข้อใด ? ข้อ ๓ คือ มุทิตา ความพลอยยินดี ฯ |
๒. | พรหมวิหาร ๔ มีอะไรบ้าง ? มี ๔ อย่าง คือ ๑. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาให้เขาเป็นสุข ๒. กรุณา ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ๓. มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี ๔. อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ ฯ |
๑. | ปัญญาอันเห็นชอบอย่างไร จึงชื่อว่ามรรคในอริยสัจ ๔ ? เพราะเหตุไร ? ปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้ทุกข์เกิด สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ได้ชื่อว่ามรรค ฯ เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ฯ |
๒. | ทุกข์ในอริยสัจ ๔ คืออะไร ? เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ? ทุกข์ในอริยสัจ ๔ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหาความทะยานอยาก ฯ |
๓. | อริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ? ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สมหวัง จัดเป็นอริยสัจข้อไหน ? อริยสัจ ๔ มีอย่าง ดังนี้คือ ๑. ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ๓. นิโรธ ความดับทุกข์ ๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ฯ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมหวัง จัดเป็นข้อ ทุกข์ ฯ |
๔. | อริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ? ความสบายกายไม่สบายใจ จัดเป็นอริยสัจข้อไหน ? อริยสัจ ๔ มีดังนี้ คือ ๑) ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ๒) สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ๓) นิโรธ ความดับทุกข์ ๔) มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ฯ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ จัดเป็นอริยสัจข้อ ๑ คือ ทุกข์ ฯ |
๑. | อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ อย่าง ทรงสอนให้พิจารณาอะไรบ้าง ? ทรงสอนให้พิจารณา คือ ๑. ความแก่ ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๒. ความเจ็บไข้ ว่าเรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๓. ความตาย ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๔. ความพลัดพราก ว่าเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๕. กรรม ว่าเรามีกรรมเป็นของตัวเราทำดีจักได้ดีทำชั่วจักได้ชั่ว ฯ |
๒. | อภิณหปัจจเวกขณ์ เมื่อพิจารณาทุกวันมีประโยชน์อย่างไร ? เมื่อพิจารณาทุกวัน มีประโยชน์ คือ ทำให้เกิดความไม่ประมาท ตั้งหน้าหาโอกาสทำความดี ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ฯ |
๑. | ธรรมอันเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี คืออะไร ? มีอะไรบ้าง ? คือ นิวรณ์ ๕ ฯ มี ๑. กามฉันท์ พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น ๒. พยาบาท ปองร้ายผู้อื่น ๓. ถีนมิทธะ ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านและรำคาญ ๕. วิจิกิจฉา ลังเลไม่ตกลงได้ ฯ |
๒. | ความดีที่ถูกกั้นไว้ไม่ให้บรรลุ หมายถึง ความดีอย่างไหน ? ความดีที่ถูกกั้นไว้ไม่ให้บรรลุ หมายถึงความดีทุกๆ อย่าง แต่เมื่อกล่าวโดยตรง ได้แก่สมาธิ คือการทำจิตใจให้สงบ ฯ |
๑. | โลกธรรม ๘ มีอะไรบ้าง ? โลกธรรม ๘ คือ มีลาภ๑ ไม่มีลาภ๑ มียศ๑ ไม่มียศ๑ นินทา๑ สรรเสริญ๑ สุข๑ ทุกข์๑ ฯ |
๒. | จงย่อโลกธรรม ๘ ให้เหลือเป็น ๒ มาดู ? ย่อได้อย่างนี้ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นอิฏฐารมณ์ และส่วนเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นอนิฏฐารมณ์ ฯ |
๓. | โลกธรรม คืออะไร ? เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรพิจารณาอย่างไร ? คือ ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกอยู่ และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น ฯ เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรพิจารณาว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ก็แต่ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรรู้ตามที่เป็นจริง อย่าให้มันครอบงำจิตได้ คืออย่ายินดีในส่วนที่ปรารถนา อย่ายินร้ายในส่วนที่ไม่ปรารถนา ฯ |
๑. | มรรคมีองค์แปดจัดเข้าในสิกขา ๓ ได้หรือไม่ ? ถ้าได้จงจัดมาดู มรรคมีองค์แปดจัดเข้าในสิกขา ๓ ได้ดังนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ จัดเข้าในปัญญาสิกขา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเข้าในสีลสิกขา สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเข้าในจิตตสิกขา ฯ |
๒. | ในมรรคมีองค์ ๘ คำว่า “เพียรชอบ” คือเพียรอย่างไร ? เพียรชอบ คือ ๑. เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน ๒. เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ๓. เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน ๔. เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ฯ |
๓. | สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเจรจาอย่างไร ? เจรจาที่ปราศจาก ๔ อย่าง คือ ๑) ไม่พูดเท็จ ๒) ไม่พูดส่อเสียด ๓) ไม่พูดคำหยาบ ๔) ไม่พูดเพ้อเจ้อ ฯ |
๑. | ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้เรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ? เรียกว่า สังคหวัตถุ มี ๔ อย่าง คือ ๑. ทาน ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน ๒. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน ๓. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ๔. สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว |
๒. | ฆราวาสผู้ครองเรือนควรตั้งอยู่ในธรรมข้อใดบ้าง ? ควรตั้งอยู่ในฆราวาสธรรม ๔ คือ ๑) สัจจะ สัตย์ซื่อต่อกัน ๒) ทมะ รู้จักข่มจิตของตน ๓) ขันติ รู้จักอดทน ๔) จาคะ รู้จักสละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน ฯ |
๓. | ศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นนิตย์ คืออะไร ? ได้แก่อะไรบ้าง ? คือ ศีล ๕ ฯ ได้แก่ ๑. เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป ๒. เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย ๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๔. เว้นจากพูดเท็จ ๕. เว้นจากดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ฯ |
๔. | ในทิศ ๖ บุตรธิดาพึงปฏิบัติต่อมารดาบิดาอย่างไร ? พึงปฏิบัติต่อมารดาบิดาอย่างนี้ ๑. ท่านได้เลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ ๒. ทำกิจของท่าน ๓. ดำรงวงศ์สกุล ๔. ประพฤติตนใหเ้ป็นคนควรรับทรัพย์มรดก ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน ฯ |
๕. | อุบาสกอุบาสิกาควรตั้งอยู่ในคุณสมบัติอะไรบ้าง ? ควรตั้งอยู่ในคุณสมบัติของอุบาสก ๕ ประการ คือ ๑. ประกอบด้วยศรัทธา ๒. มีศีลบริสุทธิ์ ๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือ เชื่อกรรม ไม่เชื่อมมงคล ๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพระพุทธศาสนา ๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพระพุทธศาสนา |
๖. | ความสุขของผู้ครองเรือนตามหลักพระพุทธศาสนา เกิดมาจากเหตุอะไรบ้าง ? เกิดจากเหตุ ๔ อย่าง คือ ๑. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ๒. สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค ๓. สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้ ๔. สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ฯ |
๗. | ดื่มน้ำเมามีโทษอย่างไรบ้าง ? มีโทษ ๖ อย่าง คือ ๑. เสียทรัพย์ ๒. ก่อการทะเลาะวิวาท ๓. เกิดโรค ๔. ถูกติเตียน ๕. ไม่รู้จักอาย ๖. ทอนกำลังปัญญา ฯ |
๘. | การค้าขายที่ห้ามอุบาสกอุบาสิกาประกอบ คืออะไรบ้าง ? ๑. ค้าขายเครื่องประหาร ๒. ค้าขายมนุษย์ ๓. ค้าขายสัตว์เป็นสำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ๔. ค้าขายน้ำเมา ๕. ค้าขายยาพิษ ฯ |
๙. | ตระกูลอันมั่งคั่งจะตั้งอยู่นำนไม่ได้ เพราะเหตุอะไร ? เพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ ๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๒. ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า ๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ ๔. ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน ฯ |
๑๐. | ผู้หวังประโยชน์ปัจจุบันจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้สมหวัง ? ต้องปฏิบัติตามหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ คือ ๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจการงานในการศึกษาเล่าเรียนในการทำธุระหน้าที่ของตน ๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาทั้งทรัพย์และการงานไม่ให้เสื่อมไป ๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว ๔. สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ฯ |
๑๑. | การคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างไร ? เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างนี้ คือ การร่วมกินร่วมนอน ร่วมเที่ยว ร่วมพรรคร่วมพวก ร่วมไปมาหาสู่กับคนชั่ว มักจะถูกคนชั่วชักจูงไปในทางชั่ว เช่น คนไม่เคยเป็นนักเลงหญิง ไม่ติดสุรา ไม่เล่นการพนัน ไม่เป็นอันธพาล ก็ย่อมถูกชักจูงไปจนกลายเป็นนักเลงหญิงได้ เป็นต้น ฯ |
๑๒. | อบายมุข คืออะไร ? ดื่มน้ำเมามีโทษอย่างไรบ้าง ? คือ ทางแห่งความเสื่อม ฯ มีโทษอย่างนี้ คือ ๑) เสียทรัพย์ ๒) ก่อการทะเลาะวิวาท ๓) เกิดโรค ๔) ต้องถูกติเตียน ๕) ไม่รู้จักอาย ๖) ทอนกำลังปัญญา ฯ |