ปัญหาเฉลยข้อสอบวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท ปีพ.ศ.๒๕๖๖
-
ประวัติอนุพุทธบุคคลมีความสำคัญต่อผู้ศึกษาอย่างไร ?
ตอบ มีความสำคัญ คือ ทำให้ผู้ศึกษาได้รับความรู้ในจริยาวัตร และคุณความดีที่ท่านได้บำเพ็ญมาตลอด จนถึงผลงานในการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาอันทำให้เจริญสืบ มาถึงทุกวันนี้ นำให้เกิดความเลื่อมใสและความนับถือเป็นทิฏฐานุคติอันดี สามารถน้อมนำมาปฏิบัติตามได้ ฯ -
สัมมาสัมพุทธะ ปัจเจกพุทธะ และอนุพุทธะ ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ สัมมาสัมพุทธะ ตรัสรู้เองโดยชอบ และสอนผู้อื่นให้รู้ตาม
ปัจเจกพุทธะ ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่สอนผู้อื่นให้รู้ตาม
อนุพุทธะ ตรัสรู้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และสามารถสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ฯ -
พระปัญจวัคคีย์ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ด้วยพระธรรมเทศนาชื่ออะไร ? ความย่อว่าอย่างไร ?
ตอบ พระธรรมเทศนาชื่อ อนัตตลักขณสูตร ฯ
ความย่อว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯ -
พระธรรมเทศนาที่ได้ชื่อว่าอาทิตตปริยายสูตรเพราะเหตุไร ? พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ใคร ?
ตอบ เพราะแสดงสภาวธรรมเป็นของร้อน อันเหมาะแก่บุรพจรรยาของผู้ฟัง ฯ
พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พวกปุราณชฎิล ฯ -
พระสาวกรูปใด เมื่อทราบว่าพระอาจารย์ของตนอยู่ทางทิศใด ก็นอนหันศรีษะไปทางทิศนั้น ? การปฏิบัติเช่นนั้นจัดเป็นคุณธรรมอะไร ?
ตอบ พระสารีบุตร ฯ จัดเป็นกตัญญู ฯ -
สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือใคร ? ได้บรรลุพระอรหัตเพราะฟังธรรมจากใคร ?
ตอบ สามเณรราหุล ฯ จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ -
ธรรมุทเทศ มีอะไรบ้าง ? ใครแสดงแก่ใคร ?
ตอบ ธรรมุทเทศ มี
๑. โลกคือหมู่สัตว์ อันชรานำเข้าไปใกล้ ไม่ยั่งยืน
๒. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่จำเพาะตน
๓. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ ตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
๔. โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ฯ
พระรัฐบาลแสดงถวายพระเจ้าโกรัพยะ ฯ -
จงระบุชื่อพระสาวกผู้ที่บวชเพราะเหตุต่อไปนี้ ?
๑. บวชเพราะศรัทธา
๒. บวชเพราะจำใจ
๓. บวชเพราะหลงไหลในรูป
ตอบ ๑. บวชเพราะศรัทธา คือ พระรัฐบาล
๒. บวชเพราะจำใจ คือ พระนันทะ
๓. บวชเพราะหลงใหลในรูป คือ พระวักกลิ ฯ -
การศึกษาศาสนพิธี มีประโยชน์อย่างไร ?
ตอบ มีประโยชน์ดังนี้
๑. ทำให้เข้าใจเรื่องของศาสนพิธีได้โดยถูกต้อง
๒. ทำให้เห็นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ไร้สาระ
๓. ทำให้ปฏิบัติได้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนจากขนบธรรมเนียมประเพณี ฯ -
สามีจิกรรม หมายถึงอะไร ? มีอะไรบ้าง ?
ตอบ สามีจิกรรม หมายถึง การขอขมาโทษกันให้อภัยกันทุกโอกาส ไม่ว่าจะมีโทษขัดข้องหมองใจกันหรือไม่ก็ตาม ถึงโอกาสที่ควรทำสามีจิกรรมกันแล้ว ทุกรูปไม่พึงละโอกาสเสีย ฯ
มี ๒ คือ
๑. แบบขอขมาโทษ
๒. แบบถวายสักการะ ฯ