เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นตรี วิชาวินัยบัญญัติ ปี 2567

เก็งข้อสอบนักธรรมชั้นตรี วิชาวินัยบัญญัติ ปี 2567,เก็งวิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นตรี ปี 2567



⏏︎ ดาวน์โหลดเก็งข้อสอบ


  ติวเข้มเตรียมสอบธรรมสนามหลวง
  นักธรรมชั้นตรี วิชาวินัยบัญญัติ
  ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗
  มีทั้งหมด ๒๖ ข้อดังนี้ครับ

๑. ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตเรียกว่าอะไร ?  มีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ?
ต/ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกว่า นิสสัย ฯ
มี ๔ อย่าง ฯ
๑) เที่ยวบิณฑบาต
๒) นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
๓) อยู่โคนต้นไม้
๔) ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ฯ

๒. กิจที่บรรพชิตไม่ควรทํา เรียกว่าอะไร ?  มีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ?
ต/ กิจที่บรรพชิตไม่ควรทำ เรียกว่า อกรณียกิจ ฯ มี ๔ อย่าง ฯ คือ ๑. เสพเมถุน ๒. ลักของเขา ๓. ฆ่าสัตว์ ๔. พูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน ฯ

๓. ภิกษุปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาดีแล้ว จะได้รับประโยชน์อย่างไร ?
ต/ ย่อมได้รับประโยชน์ คือ
ปฏิบัติศีล ทำให้เป็นผู้มีกายวาจาเรียบร้อย
ปฏิบัติสมาธิ ทำให้ใจสงบมั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
ปฏิบัติปัญญา ทำให้รอบรู้ในกองสังขาร ฯ

๔. พุทธบัญญัติและอภิสมาจาร คืออะไร ?  ทั้ง ๒ รวมเรียกว่าอะไร ?
ต/ พุทธบัญญัติ คือข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายและวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดด้วยปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้าง
อภิสมาจาร คือขนบธรรมเนียมที่ทรงแต่งตั้งขึ้นเพื่อชักนำความประพฤติของภิกษุสงฆ์ให้ดีงาม ฯ
ทั้ง ๒ รวมเรียกว่า พระวินัย ฯ

๕. อาบัติคืออะไร ?  มีโทษอย่างไรบ้าง ?
ต/ อาบัติ คือโทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ฯ
มีโทษ คือ
อย่างหนัก ทําให้ขาดจากความเป็นภิกษุ
อย่างกลาง ทําให้ต้องอยู่กรรม คือประพฤติวัตรอย่างหนึ่งเพื่อทรมานตน
อย่างเบา ทําให้ต้องแสดงต่อหน้าภิกษุด้วยกัน ฯ

๖. อาบัติว่าโดยชื่อมีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ?
ต/ อาบัติว่าโดยชื่อมี ๗ อย่าง ฯ คือ
๑) ปาราชิก
๒) สังฆาทิเสส
๓) ถุลลัจจัย
๔) ปาจิตตีย์
๕) ปาฏิเทสนียะ
๖) ทุกกฏ
๗) ทุพภาสิต ฯ

๗. สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์มีเท่าไร ?  สิกขาบทว่าด้วยปาราชิกมีอะไรบ้าง ?
ต/ มี ๒๒๗ สิกขาบท ฯ
สิกขาบทว่าด้วยปาราชิก มี ๔ ข้อ ได้แก่
๑) เสพเมถุน
๒) ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา ๕ มาสก
๓) ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย
๔) ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่ไม่มีในตน ฯ

๘. สิกขา คืออะไร ?  มีอะไรบ้าง ?
ต/ สิกขา คือ ข้อที่ภิกษุต้องศึกษา ฯ มี
๑. ศีล ความรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๒. สมาธิ ความรักษาใจมั่น
๓. ปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขาร ฯ

๙. ภิกษุฆ่ามนุษย์ ฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน ต้องอาบัติอะไร ?
ต/ ฆ่ามนุษย์ ต้องอาบัติปาราชิก
ฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯ

๑๐. พูดอย่างไรเรียกว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม ?
ต/ พูดอวดคุณพิเศษอันยิ่งของมนุษย์ เช่น พูดว่าได้ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน เรียกว่า พูดอวดอุตตริมนุสสธรรม ฯ

๑๑. ในอทินนาทานสิกขาบท กำหนดราคาทรัพย์ เป็นวัตถุแห่งอาบัติไว้อย่างไรบ้าง ?
ต/ ทรัพย์มีราคาตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป เป็นวตัถุแห่งอาบัติปาราชิก
ทรัพย์มีราคาต่ำกว่า ๕ มาสก แต่สูงกว่า ๑ มาสก เป็นวัตถุแห่งอาบัติถุลลัจจัย
ทรัพย์มีราคาตั้งแต่ ๑ มาสกลงไป เป็นวตัถุแห่งอาบัติทุกกฎ ฯ

๑๒. ภิกษุมีความกำหนัด จับต้องกายมนุษย์ต้องอาบัติอะไร ?
ต/ จับต้องกายมนุษย์ที่เป็นหญิง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
จับต้องกายมนุษย์ที่เป็นบัณเฑาะก์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
จับต้องกายมนุษย์ที่เป็นชาย ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

๑๓. คำว่า “ภิกษุประทุษร้ายตระกูล” ในสิกขาบทที่ ๑๓ แห่งสังฆาทิเสส หมายถึงการทำ อย่างไร?
ต/ หมายถึง การที่ภิกษุประจบคฤหัสถ์ ยอมตนให้เขาใช้สอย เช่น เดินส่งข่าวให้เขา เป็นต้น หรือด้วยการเอา เปรียบโดยเชิงให้สิ่งเล็กน้อยด้วยหวังได้มาก ฯ

๑๔. คำว่า อาบัติที่ไม่มีมูล กำหนดโดยอาการอย่างไร ?  ภิกษุโจทก์ภิกษุด้วยอาบัติไม่มีมูล ต้องอาบัติอะไร ?
ต/ คำว่า อาบัติที่ไม่มีมูล กำหนดโดยอาการ ๓ คือ
๑) ไม่ได้เห็นเอง
๒) ไม่ได้ยินเอง
๓) ไม่ได้เกิดรังเกียจสงสัยว่าภิกษุนั้นต้องอาบัติชื่อนั้น ฯ
โจทก์ด้วยอาบัติปาราชิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ฯ
โจทก์ด้วยอาบัติอื่น นอกจากอาบัติปาราชิก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯ

๑๕. จีวร ผ้านิสีทนะ อังสะ ผ้าเช็ดหน้า ย่ามผ้า เมื่อจะใช้สอย อย่างไหนควรพินทุ อย่างไหนไม่ควร ?  เพราะเหตุใด ?
ต/ จีวรและอังสะ ควรพินทุ เพราะใช้ห่ม
ผ้านิสีทนะ ผ้าเช็ดหน้า และย่ามผ้า ไม่ต้องพินทุ เพราะไม่ได้ใช้นุ่งห่ม ฯ

๑๖. ผ้าไตรจีวร ที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุอธิษฐานไว้ใช้มีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ?
ต/ ผ้าไตรจีวร ที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุอธิษฐานไว้ใช้มี ๓ อย่าง ฯ
๑) สังฆาฏิ (ผ้าคลุม)
๒) อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม)
๓) อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ฯ

๑๗. เภสัช ๕ ได้แก่อะไรบ้าง ?  น้ำตาลทรายจัดเข้าในเภสัชประเภทใด ?
ต/ เภสัช ๕ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ฯ น้ำตาลทรายจัดเข้าในน้ำอ้อย ฯ

๑๘. ภิกษุนำเก้าอี้ของสงฆ์ไปใช้ที่กลางแจ้งแล้วเมื่อจะหลีกไปพึงปฏิบัติอย่างไร ?  ถ้าไม่ปฏิบัติเช่นนั้น ต้องอาบัติอะไร ?
ต/ พึงปฏิบัติอย่างนี้ คือ เก็บเอง ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ หรือมอบหมายแก่ผู้อื่น ฯ
ถ้าไม่ปฏิบัติเช่นนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯ

๑๙. ภิกษุซ่อนผ้าอาบน้ำฝน บาตร จีวร กล่องเข็ม ด้าย ของเพื่อนภิกษุหรือสามเณรเพื่อล้อเล่น เป็นอาบัติอะไรบ้าง ?
ต/ ซ่อนผ้าอาบน้ำฝน ด้าย เป็นอาบัติทุกกฏ
ซ่อนบาตร จีวร กล่องเข็ม เป็นอาบัติปาจิตตีย์
ซ่อนของสามเณรทุกอย่าง เป็นอาบัติทุกกฏ ฯ

๒๐. ภิกษุเข้าบ้านในเวลาวิกาล โดยไม่บอกลาภิกษุอื่นที่มีอยู่ในวัดต้องอาบัติอะไรหรือไม่ ?
ต/ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีกิจรีบด่วน ฯ

๒๑. วัตรที่ภิกษุสามเณรจะต้องศึกษาเรียกว่าอะไร ?  มีทั้งหมดกี่ข้อ ?
ต/ วัตรที่ภิกษุสามเณรจะต้องศึกษาเรียกว่า เสขิยวัตร ฯ
มีทั้งหมด ๗๕ ข้อ ฯ

๒๒. เสขิยวัตร คืออะไร ?  ภิกษุไม่ปฏิบัติตามต้องอาบัติอะไร ?
ต/ เสขิยวัตร คือ ธรรมเนียมที่ภิกษุต้องศึกษา ฯ
ภิกษุไม่ปฏิบัติตาม ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

๒๓. ในการรับบิณฑบาต ภิกษุสามเณรพึงปฏิบัติอย่างไรจึงถูกต้องตามเสขิยวัตร ?
ต/ พึงปฏิบัติอย่างนี้ คือ
๑. รับโดยเคารพ
๒. แลดูแต่ในบาตร
๓. รับแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก
๔. รับแต่พอเสมอขอบปากบาตร ฯ

๒๔. ภิกษุฉันพลางทำกิจอื่นพลาง จะต้องอาบัติอะไรหรือไม่ ?
ต/ พูดทั้งที่ยังมีอาหารอยู่ในปาก ต้องอาบัติทุกกฏ
พูดไม่มีอาหารอยู่ในปาก ไม่ต้องอาบัติ ฯ

๒๕. ภิกษุเถียงกันด้วยเรื่องอะไร จึงเรียกว่า วิวาทาธิกรณ์ ?
ต/ เถียงกันด้วยเรื่อง สิ่งนั้นเป็นธรรมเป็นวินัย สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ฯ

๒๖. อธิกรณ์ คืออะไร ?  เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องทำอย่างไร ?
ต/ อธิกรณ์ คือ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ ฯ
เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องระงับด้วยอธิกรณสมถะอย่างใดอย่างหนึ่งตามสมควรแก่อธิกรณ์นั้น ๆ ฯ

⏏︎ ดาวน์โหลดเก็งข้อสอบ